นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Watchdog Channel ถึงกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำพิพากษาจำคุก ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอยู่อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าเหตุใดการทำหน้าที่ประธานที่ประชุมอนุกรรมการใน กสทช. ที่ก็มีอยู่หลายต่อหลายชุด ถึงตกเป็นจำเลยถึงขั้นถูกตัดสินจำคุกได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากย้อนไปดูต้นตอการฟ้องร้องจะเห็นได้ว่า เริ่มจากทรูไอดี ที่เป็นผู้ให้บริการกล่อง “TrueID” ที่จับเอาบรรดาช่องรายการฟรีทีวีทั้งหลายมามัดรวมกันแล้วส่งสัญญาณให้บริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือดูผ่านแอปบนสมาร์ตโฟน ที่เรียกบริการ OTT โดยสอดแทรกหาโฆษณาอีกที ได้นำเรื่องไปฟ้องศาลว่าถูก กสทช. ใช้อำนาจกลั่นแกล้งให้ได้รับความเสียหาย มีการแก้ไขรายงานการประชุมอันเป็นเท็จใส่ชื่อทรูไอดีเข้าไป ทั้งที่ไม่อยู่ในรายงานการประชุมแต่แรก และแม้จะไม่ส่งหนังสือมาถึงตนโดยตรง แต่การเอ่ยชื่อทรูไอดีในหนังสือเตือนดังกล่าว ก็ทำให้บริษัทเสียหาย ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่าทรูไอดีดำเนินธุรกิจผิดกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการที่จะทำสัญญากับทรูไอดีชะงัก จึงได้นำเรื่องมาฟ้องศาล

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า หนังสือที่ กสทช. ออกไปยังผู้ประกอบการฟรีทีวีผู้รับใบอนุญาติทั้งหลาย ที่ทรูไอดีนำไปอ้างต่อศาลว่าทำให้ตนเองเสียหายทางธุรกิจนั้น ทุกอย่างไม่ใช่กระทำในนาม “กสทช.พิรงรอง” หรือในนามส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ที่มีหน้าที่ตามที่ตามได้รับมอบหมาย เมื่อมีผลประชุมอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดๆ ออกมา หากเป็นอำนาจโดยตรงของสำนักงาน กสทช. ย่อมต้องมีหน้าที่ทำตาม แต่หากเรื่องใดต้องผ่านที่ประชุมบอร์ด กสทช. ก่อน ก็ต้องว่ากันตามขั้นตอนกฎหมาย แต่ทั้งนี้ หนังสือที่ออกไปล้วนต้องกระทำในนาม กสทช. ไม่ใช่ส่วนตัว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อย้อนดูคำพิพากษาฉบับเต็ม ก็ยิ่งทำให้สังคมเกิดคำถามเกิดข้อวิพากษ์ต่างๆ ตามมา เพราะองค์ประกอบความผิดในเรื่อง “เจตนา” ที่ศาลไปหยิบยกเอาคำพูดที่ว่า “ตลบหลัง-ล้มยักษ์” ที่ กสทช.พิรงรอง พูดในที่ประชุมนั้น เมื่อตรวจสอบวาระการประชุมก็พบว่า คำพูดดังกล่าวก็เป็นเรื่องปกติ เพราะ กสทช. รู้อยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจจะไปกับดูแลบริการ OTT โดยตรง จึงต้องหันมาใช้วิธีการสั่งไปยังผู้ประกอบการฟรีทีวี ที่รับอนุญาตที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ “มัสต์แคร์รี่” ที่ห้ามมีการดัดแปลงหรือโฆษณา จึงเป็นที่มาของคำว่าตลบหลัง

ส่วนคำว่า “ล้มยักษ์” ถึงแม้ “อาจารย์พิรงรอง” จะพูดคำนี้ในที่ประชุมจริง แต่ก็เป็นการพูด หลังจากการพิจารณาวาระทรูไอดีผ่านไปแล้ว และมีการพิจารณาเรื่องอื่นๆ จนจะปิดการประชุมแล้ว ก่อนจะเปรยคำว่าเตรียม “ล้มยักษ์” ออกมา ซึ่งการที่ทรูไอดีไปหยิบยกเอาคำพูดดังกล่าว เพื่อไปใช้ให้เข้าองค์ประกอบความผิด ก็ให้น่าคิดว่าผู้ฟ้องคดีมีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ เพราะหากย้อนไปดูถ้อยคำที่มาของคำพูดดังกล่าว จะเห็นได้ชัดเจนว่าคำว่าตลบหลังหรือล้มยักษ์ไม่ได้มีความหมายไปถึงขั้นนั้น

อย่างไรก็ตาม การที่ทรูไอดีจับเอาช่องฟรีทีวี หรือคอนเทนท์ดิจิทัลทีวี ไปมัดรวมให้บริการข้างต้นแล้วหาประโยชน์จากการแปะโฆษณา ก็ทำให้เกิดคำถามว่า ได้มีการซื้อลิขสิทธิ์มาอย่างถูกต้อง ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์หรือค่าบริการให้ช่องรายการต่างๆ ที่เขามีต้นทุนค่าสัมปทานค่าใบอนุญาตอยู่กับ กสทช. หรือไม่ เพราะทรูไอดีมีรายได้จากการจับเอาช่องฟรีทีวีเหล่านี้ไปออกอากาศแล้วแปะโฆษณาหาประโยชน์

นอกจากนี้ กสทช. เองก็มีข้อกำหนด ที่เรียกว่ากฎ “มัสต์แคร์รี่” ที่กำหนดไว้ ใครก็ตามที่จะนำเอารายการโทรทัศน์ภาคพื้นหรือฟรีทีวีเหล่านี้ ไปแพร่ภาพบนช่องทางอื่น อย่างเคเบิลทีวีหรือช่องทางอื่นใดก็ตาม ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เท่านั้น โดยต้องแพร่ภาพไปตามเนื้อหาของช่องนั้นๆ ที่มีแต่เดิม แต่ทรูไอดี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ OTT กลับเอาช่องรายการเหล่านี้ไปแพร่ภาพโดยสอดแทรกหรือแปะโฆษณาหาประโยชน์ลงไป

เนื่องจากไม่ว่า True ID จะมีเทคโนโลยีใหม่แค่ไหน เมื่อเอารายการดิจิทัลทีวีที่เขามีต้นทุนผลิต ต้นทุนออกอากาศ ไปออกอากาศไปดัดแปลงอย่างไร ก็ควรจะต้องมาเจรจาซื้อลิขสิทธิ์จ่ายผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบการฟรีทีวีเหล่านี้อย่างเป็นธรรม เพราะแม้แต่ YouTube ที่เอาคอนเทนต์รายการต่างๆ ของคนอื่นไปออกอากาศ และมีโฆษณาแทรก ก็ยังต้องแบ่งผลประโยชน์ให้กับเจ้าของรายการเจ้าของช่อง

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวว่า หากพิจารณาอย่างเป็นธรรม ขณะที่ทรูไอดีอ้างว่าเสียหายทางธุรกิจ โดยอ้างผู้ประกอบการ TNN และทรูฟอร์ยู True4U ชะลอทำสัญญานั้น จะเห็นได้ว่าช่อง 3 และ ช่อง 9 อสมท ที่ไปให้การในฝั่งอาจารย์พิรงรอง ก็ยืนยันว่าได้รับความเสียหายจากการถูกนำช่องรายการไปหาประโยชน์โดยไม่ได้อะไรตอบแทนเช่นกัน พร้อมตั้งคำถามว่า ในส่วนนี้ได้รับการพิจารณาในชั้นศาลหรือไม่ อย่างไรก็ดี ต้องให้กำลังใจ กสทช.พิรงรอง ต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป แต่หากถอยกลับมาพิจารณาเรื่องนี้ เห็นว่า เรื่องนี้ถ้า กสทช.พิรงรอง ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ใครร้องมาก็แค่บอกว่าทรูไอดี เป็นบริการ OTT ที่ กสทช. ยังไม่มีอำนาจควบคุมกำกับดูแล ก็คงไม่เดือดร้อนแบบที่เป็นอยู่ หลายคนจึงตกใจกับคำพิพากษาที่ออกมา ซึ่งลงโทษผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รอลงอาญาแล้ว.