สื่อแดนผู้ดี “เดอะ ซัน” รายงานว่า โธมัส ทูเคิล กุนซือชาวเยอรมัน ของ “สิงโตคำราม” ทีมชาติอังกฤษ เปิดแผนพาสิงโตคำราม คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกว่า  เน้นการสร้างขวัญกำลังใจมากกว่าการเน้นเกมรับ โดยบอกกับลูกทีมว่า ตนไม่มีเวลามากพอที่จะนำแทคติกใหม่ๆ มาใช้ แต่สิ่งที่สำคัญคือการทำให้ทีมสามัคคีกันกลายเป็น “พี่น้องร่วมรบ”

ทูเคิล ยังเชื่อว่าภาษากายคือกุญแจสำคัญ โดยอ้างว่าสถิติของทีมใน NBA แสดงให้เห็นว่าทีมที่มีการให้ ไฮไฟว์ (การตบมือกับผู้อื่นโดยยกมือขึ้นสูงแล้วชนฝ่ามือกัน เพื่อฉลองและให้กำลังใจกัน) กับเพื่อนร่วมทีมมากที่สุด มักจะมีโอกาสชนะมากกว่า

แดน เบิร์น กองหลังจากนิวคาสเซิล ซึ่งมีส่วนสูง 6 ฟุต 7 นิ้ว เหมือนนักบาสเกตบอล เป็นหนึ่งในขุนพลของ ทูเคิล ไม่เพียงเพราะความสามารถในการเล่นฟุตบอล แต่ยังรวมถึงบุคลิกที่แข็งแกร่ง ซึ่ง เบิร์นยืนยันว่า “ผมไม่ได้มาอยู่ที่นี่เพื่อเป็นแค่กองเชียร์” และเห็นด้วยกับปรัชญาของ ทูเคิล ที่เน้นเรื่องความสามัคคีของทีมว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันฟุตบอลโลกปีหน้า ซึ่งจะจัดขึ้นที่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และเม็กซิโก

เบิร์น วัย 32 ปี กล่าวว่า “ผู้จัดการทีมมีประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และบอกพวกเราว่าเรามีเวลาเตรียมทีมเพียง 24 วันก่อนฟุตบอลโลก ซึ่งถือว่าน้อยมากจริงๆ มันจะไม่ใช่การที่เขาสามารถวางแทคติกการเล่นที่แข็งแกร่งให้เราได้จริงๆ เพราะนั่นต้องใช้เวลา แต่มันเป็นเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์กันและกระตุ้นกันและกันมากกว่า รวมถึงไม่กลัวที่จะพูดออกมาหากมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะตอนที่ผมยังเด็ก ผมมักจะมีปัญหากับเรื่องนี้ เพราะคุณไม่อยากทำให้ใครไม่พอใจ”

“แต่ผมคิดว่านี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ถ้ามีอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือเราสามารถทำได้ดีกว่านี้ ผมรู้สึกว่านี่คือแนวทางที่เราต้องใช้ หากเราต้องการบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก”

เมื่อถูกถามว่า ในฐานะนักเตะทีมชาติหน้าใหม่  จะกล้าตำหนิ จูด เบลลิงแฮม หรือ แฮร์รี เคน หรือไม่ เบิร์นตอบว่า “แน่นอน! ผมไม่มีปัญหากับเรื่องนั้นเลย!”

ทูเคิล ได้สอบถามนักเตะจากชาติที่เคยคว้าแชมป์รายการใหญ่ เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้ทีมประสบความสำเร็จ รวมถึงศึกษากีฬาประเภทอื่นอย่าง บาสเกตบอล โดย เบิร์น กล่าวว่า “ในการประชุมครั้งแรก มีการพูดถึงเรื่อง ‘ความเป็นพี่น้อง’ มากขึ้น มันเป็นเรื่องของทัศนคติและวิธีที่เขาต้องการให้เราปฏิบัติต่อกันและกัน

“เขาบอกว่าเขาได้พูดคุยกับนักเตะที่เคยเล่นในทัวร์นาเมนต์ก่อนๆ และจากหลายประเทศ เพื่อหาความแตกต่างระหว่างทีมที่ตกรอบแรกๆ กับทีมที่สามารถคว้าแชมป์ได้และส่วนใหญ่แล้ว ปัจจัยสำคัญคือปฏิสัมพันธ์ภายในทีม ทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ NBA มักเป็นทีมที่มีการให้ไฮไฟว์กัน ช่วยกันลุกขึ้น และมีการสื่อสารกันตลอดเวลา”

“ที่นิวคาสเซิล เราทำแบบนั้นบ่อยๆ และพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเรารู้ว่ามันช่วยให้ทุกคนมีสมาธิและรักษาระดับแรงจูงใจให้สูงอยู่เสมอ เมื่อต้องทำงานภายใต้ผู้จัดการทีมอย่าง เกรแฮม พอตเตอร์ และ เอ็ดดี ฮาว พวกเขามักพูดในที่ประชุมว่า หลายครั้งนักเตะไม่อยากพูดขึ้นมา เพราะรู้สึกเขินอาย แต่ผมชอบ NFL และรู้สึกว่าพวกเขาทำได้ดีมาก ถ้าพวกเขาคิดว่ามีอะไรที่จะช่วยทีมได้ พวกเขาจะลุกขึ้นมาพูดทันที และผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ฟุตบอลอังกฤษสามารถเรียนรู้ได้”

“ผมรู้สึกว่าเราจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น และจะทำให้ทีมใกล้ชิดกันขึ้น เมื่อคุณกล้าที่จะเสี่ยง ลุกขึ้นมายืนต่อหน้าทุกคน กล้าพูด และแสดงความเปราะบางบ้าง” เบิร์น กล่าว

ภาพ AFP