เมื่อเวลา 17.24 น. วันที่ 20 มี.ค.2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ถึงอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศุภมิตร ชิณศรี ผวจ.สมุทรปราการ นายชัยพรรษ เสริมสุวรรณ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ช่วยทํางานชั่วคราวในตําแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 พล.ท.อมฤต บุญสุยา แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ท.สุรพล เปรมบุตร ผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 1 นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อํานวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อํานวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมข้าราชการ เจ้าหน้าที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) เฝ้าฯ รับเสด็จ

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังมณฑลพิธี เสด็จเข้ามณฑลพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ และทรงศีล ต่อจากนั้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

ในเวลาต่อมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมา และวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และกราบบังคมทูลเบิกนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อํานวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สําเร็จตามเป้าหมาย เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานของที่ระลึก

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเสด็จฯ ไปทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อํานวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุน โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สํา เร็จตามเป้าหมาย เข้ารับพระราชทานของที่ระลึกจํานวน 80 ราย ต่อมา นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินในนามบริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อํานวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นศิลาเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและทรงลงพระนามาภิไธย

จากนั้นได้เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ ในเวลาต่อมาได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ “คมนาคมรวมใจ นําไทยสู่ศูนย์กลางการบิน” และแบบจําลองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเต็มรูปแบบ จากนั้นได้เสด็จฯ ไปยังบริเวณฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการ และผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน)

เมื่อถึงเวลาอันสมควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จ ออกจากอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ด้านทิศตะวันออก) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

สําหรับความเป็นมาและความสําคัญของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Midfield Satellite 1: SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) วงเงินก่อสร้าง 3.9 หมื่นล้านบาท เปิดบริการแบบซอฟท์ โอเพนนิ่ง มาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2566 ปัจจุบันมีสายการบินมาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 50 สายการบินต่อวัน ประมาณ 150 เที่ยวบินต่อวัน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี จาก 45-50 ล้านคนต่อปี เป็น 65 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจาก 60-64 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ชม.) เป็น 68 เที่ยวบินต่อชม.

อาคาร SAT1 มีพื้นที่ 2.16 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) รวม 28 หลุมจอด สูง 4 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น B2 รถไฟฟ้า APM เชื่อมอาคารหลัก ชั้น B1 งานระบบ ชั้น G ระบบสายพานลําเลียงกระเป๋า ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 ผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 ร้านค้า ร้านอาหาร ได้รับรางวัล Prix Versailles ในฐานะสนามบินสวยที่สุดในโลกประจําปี 2567 (The World’s most beautiful List 2024) จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ร่วมกับ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization หรือ UNESCO ในหมวดหมู่สนามบิน สาขาสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านรูปลักษณ์อาคาร (Exterior) ออกแบบตกแต่งภายในอาคารโดยถ่ายทอดเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทยผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรม และศิลปะให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย อาทิ ประติมากรรมช้างเผือก “คชสาร(น)” ขนาด 7 เมตร และ 5 เมตร บริเวณโถงกลาง ชั้น 3 ที่สานวัสดุสเตนเลสด้วยมือ ห้องน้ำ บริเวณชั้น 2 และ 3 ออกแบบโดยคํานึงถึงความสะดวกสบายและประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก นําประเพณีวัฒนธรรม เช่น ลอยกระทง และมวยไทย มาตกแต่ง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังจัดสวนแนวตั้งบริเวณชั้น 2 และ 3 เพิ่มพื้นที่สีเขียว ออกแบบอาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Design) ใช้วัสดุก่อสร้างที่ดูแลรักษาได้ง่าย ช่วยประหยัดพลังงานและเน้นการใช้แสงธรรมชาติตอบสนองนโยบายสนามบินสีเขียว (Green Airport) เพื่อผลักดันให้ท่าอากาศยานไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้โดยสารจากทั่วโลก สําหรับรันเวย์ที่ 3 วงเงินก่อสร้างประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เปิดใช้งานมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2567 ช่วยรองรับเที่ยวบินของ ทสภ. ได้มากขึ้นจาก 64 เที่ยวบินต่อชม.เป็น 96 เที่ยวบินต่อชม. ทําให้ปัญหาการรอขึ้นลงของเครื่องบิน และการบินวนรอบน่านฟ้าหมดไป

สําหรับในปี 2567 ทสภ. มีผู้โดยสารประมาณ 60 ล้านคนต่อปี คาดว่าในปี 2568 จะอยู่ที่ 64 ล้านคน มากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 2562 ที่มี 62 ล้านคน โดยมีแผนพัฒนา ทสภ. ให้รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี ในปี 2576 เพื่อเป็นฮับการบินที่สําคัญของโลก