หันมองสถานการณ์โรคใคร่เด็ก และปัญหาล่วงละเมิดทางเพศของประเทศไทยมีทิศทางอย่างใด “ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสพูดคุยหน่วยงานเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพเด็กและสตรี อย่าง กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) โดย พ.ต.อ.ศานติ กรเกษม ผกก.ดส. บช.น. สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันแนวโน้มการกระทำผิดทางเพศกับเด็กเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคดีกระทำผิดทางเพศของกลุ่มเด็กในประเทศไทยมักมี “โรคใคร่เด็ก” หรือ เปโดฟิเลีย (Pedophilia) เข้ามาเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ อาจเพราะสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย ทำให้หลายคนเข้าถึงภาพอนาจารเด็กง่าย และมี “กลุ่มลับ” ซื้อขายภาพเด็กให้พบเห็น ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้กระทำผิดเก็บสะสมความใคร่ จนมาพบเด็กและใช้โอกาส หรือช่องโหว่ต่างๆ ลงมือ

โรคใคร่เด็ก ส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดเป็นผู้ชายที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เคยมีกรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้หญิงบ้าง ส่วนเหยื่อมักเป็นเด็กผู้หญิงที่อยู่ในวัย 12-13 ปี หรือวัยที่ยังไม่มีประจำเดือน

พ.ต.อ.ศานติ ระบุ โรคใคร่เด็กถือเป็นผู้มีอาการทางจิตอ่อนๆ ส่วนใหญ่มักกระทำผิดต่อเด็กที่อยู่ในครอบครัว หรือคนใกล้ตัว  พฤติการณ์ทำทีว่ารักลูก-หลาน เข้ามาหอม กอดเด็ก อ้างเอ็นดู และเมื่อมีโอกาสหรือช่องโหว่ก็จะนำเด็กมาสนองความใคร่ของตัวเอง

“เด็กมักไม่รู้ตัวขณะที่ถูกกระทำ  จะมารู้ตัวอีกครั้งว่าสิ่งที่ถูกกระทำนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรก็อายุประมาณ 13-14 ปีแล้ว และค่อยมาแจ้งกับพ่อแม่ในภายหลัง”

ยกตัวอย่าง คดีตาเลี้ยงทำอนาจารและพยายามกระทำชำเราหลานสาวอายุ 12 ปี  ซึ่งพบเด็กถูกกระทำมาตั้งแต่ปี 66 แต่พอเริ่มโต จึงรู้ว่าตาเลี้ยงไม่ได้รัก  เมื่อเด็กรู้ว่าถูกกระทำในสิ่งที่ไม่ดี  จึงไปฟ้องแม่ ก่อนที่แม่จะเข้าแจ้งความกับตำรวจ พร้อมรับว่าคดีเหล่านี้หาหลักฐานยาก เพราะเกิดกับคนใกล้ตัว เวลาขอความร่วมมือในการค้นหาพยานหลักฐานที่เกิดเหตุจึงยากเพราะเป็นพี่น้องกันหมด

พ.ต.อ.ศานติ  เผยว่า ปัจจุบันกฎหมายของประเทศไทยยังไม่มีการแยกบทลงโทษเฉพาะของโรคใคร่เด็ก  แต่ที่ผ่านมาจะมีการประเมินภาวะทางจิต เพื่อจำแนกกลุ่มผู้กระทำความผิด  แต่ก็ประเมินได้ยาก เนื่องจากคนเหล่านี้ดูเหมือนคนปกติทั่วไป

อย่างไรก็ตาม หากถามถึงข้อสังเกตหรือการป้องกัน กรณีคนใกล้ตัวสุ่มเสี่ยงเป็นโรคใคร่เด็ก พ.ต.อ.ศานติ ยอมรับว่าสังเกตได้ยาก เพราะมักเป็นคนใกล้ตัวและแสดงตัวเป็นพวกรักเด็ก ทางป้องกันที่ดีพ่อแม่ หรือผู้ปกครองควรดูแลเด็กให้ใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง อย่าให้ญาติหรือใครอุ้มไปเที่ยวเล่นไกลเกินสายตาตัวเอง

“เพราะส่วนมากจะเกิดจากคนใกล้ตัว ลุงมาอุ้มไป น้ามาอุ้มไป ตามาอุ้มไป เห็นว่าลูกหลานไม่ได้คิดอะไร แต่พอเผลอก็จะเกิดเหตุ จึงยากให้คุณแม่หรือผู้ปกครองใช้ความระมัดระวังดูแลให้มากขึ้น เพราะเกิดเหตุแล้วจะเสียใจ อันนั้นก็ญาติ อันนี้ก็ลูก จะดำเนินคดีกันอย่างไร เศร้ากันทั้งครอบครัว ซ้ำไปสร้างแผลใจ หรือปมด้อยให้เด็กที่เป็นเหยื่อตลอดชีวิต”

พ.ต.อ.ศานติ  ทิ้งท้ายในส่วนของ กก.ดส. รับคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเพศเฉพาะปีที่ผ่านมาพบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนกรณีเกี่ยวข้องกับโรคใคร่เด็กพบประมาณ 7-8 เคส ส่วนที่เหลือเป็นคดีลักษณะพรากผู้เยาว์ ชำเราเด็ก และจากประเภทผู้กระทำผิดทางเพศโดยรวมพบว่าส่วนมากเป็นกลุ่มนักข่มขืนที่ก่อเหตุบ่อยที่สุด

ผู้กระทำผิดทางเพศ 4 ประเภท

1.กลุ่มนักข่มขืน

-นิยมใช้ความรุนแรง มีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำ

2.ผู้กระทำผิดทางเพศบนอินเทอร์เน็ต

 -ล่อลวงเด็กออนไลน์

3.ผู้กระทำผิดที่เป็นผู้หญิง

-มีน้อย แต่พบได้ มักเป็นผู้มีประวัติถูกกระทำรุนแรงต่อเนื่องในวัยเด็ก

4.กลุ่มใคร่เด็ก

-มีความสนใจทางเพศกับเด็กเล็ก (ก่อนวัยเจริญพันธุ์ไปถึง 13 ปี)

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน