เมื่อวันที่ 23 มี.ค.68 ดร.สรไกร เรืองรุ่ง ผู้อำนวยการสถาบันช่างเมืองเพชรและศิลปะร่วมสมัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นำประติมากรรม รูปจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย มาติดตั้งเป็นจุดแลนด์มาร์คแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าที่มีคุณค่าในผืนป่ามรดกโลก เพื่อเป็นหมุดหมายสำหรับการถ่ายภาพของนักท่องเที่ยว ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมี นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตผอ.สำนักอุทยานฯ ร่วมรับมอบพร้อมกับนายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และ นายญาณ อ้วนสิงห์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

สำหรับ ประติมากรรมจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย นั้น มีแนวคิดมาจากการที่ในอดีตบริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรี ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จะเป็นจุดที่มี จระเข้วังข่า หรือ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crocodylus siamensis อาศัยอยู่อย่างชุกชุม แต่ปัจจุบันพบได้น้อยมากในธรรมชาติ ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีการตั้งกล้องดักถ่ายภาพพบที่ บริเวณวังข่า และชับชุมเห็ด ในแม่น้ำเพชรบุรีตอนบนเหนือหมู่บ้านโป่งลึกบางกลอยขึ้นไปประมาณ 10 กิโลเมตร และพบร่อยรอยจระเข้ที่เกาะสะแกวัลย์ในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ซึ่งทั้งอุทยานฯ ในปัจุบัน คาดว่ามีไม่เกิน 10 ตัว ทำให้ทาง ดร.สรไกร ต้องการสื่อให้เห็นความสำคัญในการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ ให้เห็นความสำคัญของจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยแท้ โดยประติมากรรมจระเข้นี้สร้างจากนอตตัวเมีย ทำการอ๊อกเชื่อมต่อกันทีละตัว กระทั่งเป็นตัวจระเข้โผล่พ้นใบบัว อันหมายถึงแหล่งน้ำจืด อ้าปากกว้าง มีริ้วที่บริเวณปากด้านล่างเป็นหยดน้ำเหมือนการละลายของก้อนน้ำแข็ง สื่อถึงสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากโลก

สำหรับการติดตั้งดำเนินการหันหน้าประติมากรรมไปทางเกาะพลับพลา อันเป็นสถานที่อันควรเคารพในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เนื่องจากในอดีตเป็นพื้นที่รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อครั้งที่เสด็จฯ เยือนเขื่อนแก่งกระจาน เมื่อปี พ.ศ.2516 พ.ศ.2518 และ พ.ศ.2556 ซึ่งชาวเมืองเพชรให้ความสำคัญและเรียกเกาะนี้ว่า “เกาะในหลวง”


ขณะที่ต้นทุนในการก่อสร้าง ดร.สรไกร ได้รับทุนมาจากทุนอุดหนุนการวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บริหารแหล่งทุนค่าวัสดุในการสร้างไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท จึงร่วมกับทีมงานรังสรรค์ผลงานชิ้นนี้ออกมา เป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่า มอบไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ ไว้ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีตลอดไป.
