จากกรณีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยง “ภาษีการรับให้” มาตั้งแต่ปี 2559 โดยเป็นการรับหุ้นจากบุคคลในครอบครัว ใช้ตั๋ว PN หลีกเลี่ยงภาษีการรับให้เป็นเงินสูงถึง 218.7 ล้านบาท

รู้จัก ภาษีการรับให้ คืออะไร?

  • ภาษีการรับให้ หรือเรียกทั่วไปว่า ภาษีการให้ (Gift Tax) คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากทรัพย์สินที่ให้หรือรับแก่บุตร คู่สมรส ญาติ หรือบุคคลอื่น ก่อนผู้ให้เสียชีวิต ทั้งนี้ ภาษีการรับให้มีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดก ป้องกันไม่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก

ผู้เสียภาษีการรับให้คือใคร?

  • ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ แบ่งออกเป็น 2 กรณี มีดังนี้

1.กรณีการให้อสังหาริมทรัพย์ กำหนดให้ผู้ที่โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บิดาและหรือมารดาผู้โอนกรรมสิทธิ์ให้บุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม (มาตรา 42 (26))

2.กรณีการให้สังหาริมทรัพย์
-บุคคลธรรมดาผู้ได้รับเงินได้จากการอุปการะ หรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาทในแต่ละปีภาษี (มาตรา 42(27))
-บุคคลธรรมดาผู้ได้รับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีจากบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส เฉพาะเงินได้ส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาท ในแต่ละปีภาษี (มาตรา 42(28))

ภาษีการรับให้ คิดภาษียังไง?

1.กรณีการให้อสังหาริมทรัพย์ ผู้โอนเสียภาษีขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิหรือนิติกรรม ณ สำนักงานที่ดิน อัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้

2.กรณีการให้สังหาริมทรัพย์ ผู้รับเสียภาษีอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท หรือนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้

การยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับให้ทำยังไง?

  • ผู้เสียภาษีสามารถเลือกเสียภาษี 5% โดยไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่น หรือเลือกนำไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีตามปกติก็ได้
  • กรณียื่นแบบกระดาษ ให้ระบุจำนวนเงินได้และภาษีในรายการ “เงินได้จากการให้หรือการรับ”
  • กรณียื่นแบบออนไลน์ (E-Filing) เลือก “เงินได้จากการให้หรือการรับ (มาตรา 40(8))” ระบุเงินได้พึงประเมิน ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ถ้ามี) และทำเครื่องหมาย “ต้องการเสียภาษีโดยไม่รวม”
  • เงินได้ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ภายในเดือนกันยายน ของปีภาษี
  • เงินได้ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ภายในเดือนมกราคม-มีนาคม ของปีถัดจากปีภาษี กรณียื่นภาษีออนไลน์ได้จนถึงวันที่ 8 เมษายน