เมื่อวันที่ 24 มี.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ชุดสนับสนุนการควบคุมและดับไฟป่าประจำตำบลท่าขนุน สังกัดหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กจ.4 (อู่ล่อง) มีอาการเป็นตะคริวอย่างรุนแรงบริเวณท้องและขา ไม่สามารถขยับตัวได้ ขณะปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าบนภูเขาตรงข้ามเขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวได้เข้าพื้นที่ตั้งแต่เวลา 08.30 น. และทำงานต่อเนื่องท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด จนกระทั่งช่วงบ่ายเกิดอาการเป็นตะคริวเฉียบพลัน ทำให้ต้องหยุดปฏิบัติงานกลางภูเขาเป็นเวลานานถึง 30 นาที เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เคียงได้พยายามช่วยเหลือเบื้องต้น ก่อนแจ้งประสานหน่วยกู้ภัยเข้าพื้นที่


ต่อมาหน่วยกู้ภัยกาญจนบุรี เขตทองผาภูมิ หน่วยอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย (ธน34-00 ฐานบุญวิภา จุดทองผาภูมิ) ปภ.อำเภอทองผาภูมิ และพยาบาลกู้ชีพจากเขื่อนวชิราลงกรณ ได้ระดมกำลังเข้าให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุอยู่บนภูเขาสูงและมีความลาดชัน ทำให้การช่วยเหลือต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก


เจ้าหน้าที่ได้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนช่วยกันหามลงมาจากเขาอย่างทุลักทุเล จนสามารถนำตัวส่งถึงพื้นราบ และส่งต่อให้กู้ภัยนำส่งโรงพยาบาลทองผาภูมิ ซึ่งแพทย์ได้ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าในช่วงนี้ ต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัดและสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันและความเหนื่อยล้า จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความเสียสละของเจ้าหน้าที่ทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องผืนป่าของประเทศไทย

ต่อมาเวลา 19.30 น. นายไชยวุฒิ อารีย์ชน ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10(ราชบุรี) เป็นผู้แทนนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เข้าเยี่ยมและมอบกระเช้าพร้อมเงินช่วยเหลือ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับนายสมบัติ สำเภาทอง ชุดสนับสนุนการควบคุมไฟป่าประจำตำบลท่าขนุน ภายใต้การควบคุมของหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กจ.4 (อู่ล่อง) มีภาวะขาดน้ำ และสูญเสียเกลือแร่ เนื่องจากการเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการควบคุมและดับไฟป่าบริเวณภูเขาตรงข้ามเขื่อนวชิราลงกรณ

อาการของนายสมบัติ สำเภาทอง แพทย์ผู้รักษาวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำ และมีภาวะสูญเสียเกลือแร่ในร่างกาย แพทย์ให้การรักษาเบื้องต้น และให้นอนโรงพยาบาลทองผาภูมิ เพื่อเฝ้าระวังอาการการเปลี่ยนแปลง หลังให้การรักษาผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ถามตอบรู้เรื่อง และมีอาการดีขึ้นตามลำดับ หมอให้พักฟื้นประมาณ 2 วัน.