‘อุตสาหกรรมอาหาร’ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) คิดเป็น 25% ของปริมาณทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ โดยเฉพาะการทำนาข้าวแบบดั้งเดิมที่ปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณสูง รวมถึงการเลี้ยงวัวที่เป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยเคมี การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และการใช้เครื่องจักรในภาคการเกษตรยังส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารต้องเร่งปรับตัว ด้วยการนำวิธีการเพาะปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงพัฒนาอาหารสัตว์ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน และนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปศุสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น

นอกเหนือจากภาคธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้บริโภคก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้เช่นกัน เช่น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารจากแหล่งผลิตในท้องถิ่น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการขนส่งสินค้าในระยะทางไกล หรือการลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์และหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชให้มากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ คิดเป็นสัดส่วนถึง 15% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศทั่วโลก ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่ง

‘โชติกา ชุ่มมี’ ผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต SCB EIC เปิดเผยผลสำรวจที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Gen Z กำลังให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อธรรมชาติ

อีกหนึ่งแนวโน้มที่น่าจับตามองคือการเติบโตของตลาดโปรตีนทางเลือก ซึ่งรวมถึงโปรตีนจากพืช แมลง และเนื้อสัตว์เทียม เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตอบโจทย์ทั้งในด้านสุขภาพและความยั่งยืนของโลก โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดโปรตีนจากพืชทั่วโลกจะเติบโตเพิ่มถึง 125.5% ภายใน 7 ปี โดยประเทศไทย มีแนวโน้มว่าผู้บริโภค 47% มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนมาบริโภคโปรตีนจากพืชแทนเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสนใจกับประเด็นด้านสุขภาพเป็นพิเศษ ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็เริ่มหันมาให้ความสนใจกับโปรตีนจากพืชมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ดังนั้น เพื่อเป็นตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจอาหารควรนำกลยุทธ์ต่างๆ มาปรับใช้ ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานด้านสุขภาพและคุณภาพของผลิตภัณฑ์, การกำหนดราคาสินค้าให้เหมาะสม เพื่อให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้ในวงกว้าง ตลอดจนการจัดโปรโมชั่นที่ส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอย่างยั่งยืน