PRAYKINSON คือแอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นจากอินไซต์ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน มีจุดเริ่มต้นจากนายแพทย์ ธนทัศน์ บุญมงคล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคพาร์กินสันและกลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ สาขาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่เฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอย่างละเอียดลึกซึ้งเป็นเวลานาน จนพบว่าหนึ่งในสิ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย คือเรื่องเสียงพูดที่ค่อยๆ เบาลงจนแทบไม่ได้ยิน แต่อาการนี้สามารถฟื้นฟูได้ผ่านกายภาพบำบัดด้วยการฝึกออกเสียงพูดบ่อยๆ จึงร่วมมือกับ Dentsu Impact Thailand เอเจนซี่โฆษณาภายใต้เครือ Dentsu Creative Thailand ที่มุ่งใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาโซลูชันตอบสนองผู้บริโภค เพื่อสร้างสรรค์เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันสามารถฝึกบำบัดออกเสียงด้วยตัวเองได้เป็นประจำจากที่บ้าน ไม่ต้องลำบากเดินทางมาที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังค้นพบอินไซต์ที่ว่า ผู้ป่วยพาร์กินสันซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มักมีพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำ คือ การสวดมนต์ จุดประกายไอเดียการออกแบบแอปพลิเคชัน PRAYKINSON ให้เป็นเครื่องมือช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันฝึกออกเสียงผ่านบทสวดมนต์ ผสานเทคโนโลยีการวัดระดับเสียง พร้อมระบบติดตามพัฒนาการ ให้ผู้ป่วยได้ฟื้นฟูร่างกาย สมอง และจิตใจ ในคราวเดียว ทำให้สามารถกลับมาสื่อสารกับคนรอบข้างได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

เราขอพาคุณมาสำรวจเบื้องหลังแนวคิดของแอปพลิเคชัน PRAYKINSON ผ่านบทสัมภาษณ์ของนายแพทย์เจ้าของโครงการฯ และครีเอทีฟเอเจนซีผู้ทำให้ไอเดียตั้งต้นนั้น กลายเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยเหลือผู้ป่วยพาร์กินสันได้ในวันนี้

ที่มาที่ไปของไอเดีย PRAYKINSON?

Dentsu Impact: เริ่มต้นจากการที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณหมอจากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน คุณหมอเล่าว่าผู้ป่วยพาร์กินสันไม่ได้เผชิญแค่ปัญหาการเคลื่อนไหวที่ช้าและสั่นเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก นั่นคือ เสียงที่ค่อยๆ หายไป โดยธรรมชาติของโรคนี้ ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าเสียงของตัวเองเบาลงเรื่อยๆ จนคนรอบข้างแทบไม่ได้ยิน และหากไม่ได้ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เสียงของพวกเขาอาจหายไปอย่างถาวร ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้กระทบแค่การสื่อสาร แต่ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ ความสัมพันธ์กับครอบครัว และทำให้เกิดความโดดเดี่ยวทางอารมณ์ คุณหมอจึงมาปรึกษากับทีมของเราว่าจะมีวิธีไหนที่ช่วยพัฒนาและยกระดับชีวิตของผู้ป่วยได้บ้าง วิธีที่ทำให้พวกเขาสามารถฝึกพูดได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องรู้สึกว่ากำลังทำกายภาพบำบัดหรือใช้ยา ซึ่งจากการศึกษาไลฟ์สไตล์ของผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เราพบว่าการ “สวดมนต์” เป็นกิจวัตรที่พวกเขาทำเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเพื่อความสงบใจ หรือเพื่อยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เราจึงคิดว่า แทนที่จะให้พวกเขาฝึกออกเสียงแบบเดิมๆ ทำไมไม่เปลี่ยนสิ่งที่พวกเขาทำทุกวัน ให้กลายเป็นเครื่องมือฟื้นฟูเสียงที่มีประสิทธิภาพ

แอปฯ PRAYKINSON จะช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันได้อย่างไรบ้าง?

นพ. ธนทัศน์ บุญมงคล: PRAYKINSON ถูกออกแบบมาให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฝึกออกเสียงได้ด้วยตัวเองจากที่บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งเราพบว่าการที่ผู้ป่วยต้องมารับการบำบัดบ่อยๆ เป็นอุปสรรคใหญ่ของผู้ป่วยหลายคน เพราะบางคนอาจเดินทางลำบาก หรือรู้สึกว่าการฝึกพูดเป็นภาระ แอปฯ นี้ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยวัดระดับเสียงของผู้ป่วยขณะสวดมนต์ ซึ่งช่วยให้พวกเขารู้ได้ว่าตัวเองกำลังพูดเบาไปหรือไม่ และกระตุ้นให้พยายามเปล่งเสียงให้ดังขึ้น นอกจากนี้ ยังมีระบบติดตามผล ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเห็นพัฒนาการของตัวเองว่าฝึกไปแล้วเป็นอย่างไร พัฒนาไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีการติดตาม หลายคนอาจฝึกไปโดยไม่รู้ว่ามันได้ผลจริงหรือเปล่า ที่น่าสนใจคือ เราเลือกใช้บทสวดมนต์เป็นเครื่องมือในการฝึกออกเสียง เพราะนี่เป็นกิจวัตรที่ผู้สูงอายุหลายคนทำอยู่แล้ว ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องพยายามฝึกพูดด้วยประโยคหรือคำที่ไม่คุ้นเคย และนอกจากช่วยเรื่องเสียงแล้ว การสวดมนต์เป็นประจำ ยังเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยฝึกความจำ ผ่านการจดจำบทสวด ทั้งบทสวดที่อาจจะจำได้อยู่แล้ว รวมถึงบทสวดใหม่ๆ ที่ไม่เคยสวดมาก่อน เป็นการกระตุ้นสมอง และช่วยลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้อีกทางหนึ่งด้วย PRAYKINSON จึงเป็นมากกว่าแค่แอปฯ ฝึกพูด แต่มันคือเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้ฟื้นฟูร่างกาย สมอง และจิตใจไปพร้อมกัน และที่สำคัญ มันช่วยให้พวกเขากลับมาสื่อสารกับคนรอบข้างได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

ผู้ป่วยต้องใช้แอปฯ PRAYKINSON นานแค่ไหน จึงจะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น?

นพ. ธนทัศน์ บุญมงคล: จริงๆ แล้วแอปฯ นี้สามารถใช้งานได้ทุกวัน หรือบ่อยเท่าที่ผู้ป่วยต้องการ ยิ่งฝึกบ่อย ยิ่งเห็นผลดีขึ้น เพราะการออกเสียงเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับการออกกำลังกายที่ต้องทำเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และไม่ต้องกลัวว่าผู้ป่วยจะหลงลืมการฝึก เพราะ PRAYKINSON มีระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ (Daily Reminder) ช่วยกระตุ้นให้พวกเขาไม่ลืมฝึก และทำให้การฝึกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในระยะยาว

ความรู้สึกเมื่อ PRAYKINSON พัฒนาจนสามารถเป็นเวอร์ชันสมบูรณ์แบบที่เปิดให้ใช้งานได้จริง?

นพ. ธนทัศน์ บุญมงคล: รู้สึกดีใจและภูมิใจมากครับ เพราะที่ผ่านมา เราเห็นผู้ป่วยพาร์กินสันหลายคนเผชิญกับปัญหานี้โดยไม่มีทางแก้ไขที่เข้าถึงง่าย การที่ตอนนี้พวกเขาสามารถฝึกออกเสียงได้เองจากที่บ้าน ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น สิ่งที่เราตั้งใจมาตลอดคือ อยากให้การฝึกพูดเป็นเรื่องง่ายและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมือที่ซับซ้อน หรือเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยๆ เมื่อเห็นว่า PRAYKINSON สามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีเสียงที่ชัดเจนขึ้น กลับมาพูดคุยกับลูกหลานได้อย่างมั่นใจ เราก็รู้สึกว่านี่เป็นความสำเร็จอีกขั้นที่มีความหมายมาก

PRAYKINSON จะมีประโยชน์ต่อวงการแพทย์อย่างไร?

นพ. ธนทัศน์ บุญมงคล: หากแอปฯ สามารถเข้าถึงผู้ป่วยในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดเล็กหรือพื้นที่ห่างไกล จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะผู้ป่วยพาร์กินสันหลายคนไม่มีโอกาสได้รับการบำบัดเสียงที่ต่อเนื่อง ด้วยข้อจำกัดด้านระยะทางและเวลา ถ้าโรงพยาบาลต่างจังหวัดสามารถแนะนำแอปฯ นี้ให้ผู้ป่วยใช้ ก็จะช่วยให้พวกเขาสามารถฝึกออกเสียงได้เองที่บ้าน และแพทย์สามารถติดตามผลได้โดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ซึ่งช่วยลดภาระทั้งของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ไปพร้อมกัน

อะไรคือความสำเร็จของ PRAYKINSON ในมุมมองของเอเจนซี่โฆษณา?

Dentsu Impact: โฆษณาที่ดีไม่ใช่แค่การขายของ แต่คือการสร้างการเปลี่ยนแปลง และ PRAYKINSON คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า “ความคิดสร้างสรรค์” สามารถแก้ปัญหาในโลกจริงได้ เราไม่ได้แค่สื่อสารปัญหาของโรคพาร์กินสัน แต่เราใช้ความคิดสร้างสรรค์มาแก้ปัญหาให้พวกเขาโดยตรง อีกมุมหนึ่ง การทำงานกับโครงการแบบนี้ช่วยเปิดมุมมองให้กับวงการโฆษณา ว่าความคิดสร้างสรรค์สามารถนำไปใช้ในรูปแบบอื่นๆ ได้ ไม่ใช่แค่การสร้างแคมเปญให้แบรนด์ แต่ยังสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนได้จริงๆ และสุดท้าย สิ่งที่ทำให้โปรเจกต์นี้พิเศษ คือมันเกิดจากความร่วมมือของทั้งวงการแพทย์และวงการครีเอทีฟ เราได้เห็นว่าการทำงานร่วมกันระหว่างศาสตร์ที่แตกต่างกันสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่าได้ เราหวังว่า PRAYKINSON จะเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ดีๆ แบบนี้อีกในอนาคต PRAYKINSON เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมโยงศาสตร์ทางการแพทย์เข้ากับความศรัทธา ทำให้ผู้ป่วยไม่เพียงแค่ได้ฝึกพูด แต่ยังได้ฟื้นฟูหัวใจของตัวเองไปพร้อมกัน และที่สำคัญ มันช่วยให้พวกเขายังคงเชื่อมต่อกับครอบครัว คนรอบข้าง และโลกภายนอกได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

อยากเห็น PRAYKINSON ไปสู่จุดใด?

Dentsu Impact: เราหวังว่า PRAYKINSON จะช่วยให้คนตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้นว่าพาร์กินสันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการเคลื่อนไหว แต่ยังส่งผลกระทบต่อ “เสียง” และ “ความสัมพันธ์” ของผู้ป่วยกับคนรอบข้าง เราอยากให้ครอบครัว ลูกหลาน หรือคนใกล้ตัวผู้ป่วย ได้ลองนำแอปฯนี้ ไปใช้ และช่วยให้คนที่พวกเขารักยังคงสื่อสารได้อย่างมั่นใจ

ต่อยอดจากเวอร์ชันตั้งต้น PRAYKINSON สามารถพัฒนาต่อไปได้ในแง่ใด?

นพ. ธนทัศน์ บุญมงคล: สิ่งที่เรามองไว้สำหรับการพัฒนาในอนาคต คือการเพิ่มฟีเจอร์ที่สามารถวิเคราะห์การออกเสียงของผู้ป่วยได้ละเอียดขึ้น เช่น การตรวจจับความชัดเจนของเสียง และการจับจังหวะการพูด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนาได้มากกว่าแค่การควบคุมระดับเสียง อีกแนวคิดหนึ่งที่เราสนใจคือ การเพิ่มระบบสะสมคะแนน เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยฝึกพูดอย่างต่อเนื่อง และอาจมีการนำคะแนนไปใช้ประโยชน์ เช่น บริจาคเพื่อการกุศล หรือแลกเป็นสิทธิพิเศษในแอปฯ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าการฝึกของพวกเขามีเป้าหมายที่จับต้องได้ และที่สำคัญ เรากำลังมองหาแนวทางในการเพิ่มบทสวดจากศาสนาอื่นๆ เพราะตอนนี้ในแอปฯ มีบทสวดของศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม แต่เราอยากให้ครอบคลุมมากกว่านี้ เพื่อให้ผู้ป่วยจากทุกความเชื่อสามารถใช้ PRAYKINSON ได้อย่างเป็นธรรมชาติ และรู้สึกว่านี่เป็นแอปฯ ที่ออกแบบมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการพัฒนาให้ PRAYKINSON สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่มีปัญหาด้านการพูด เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรืออัลไซเมอร์ ซึ่งหากสามารถขยายการใช้งานไปยังกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้แอปฯ นี้มีประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น และกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยฟื้นฟูการพูดให้กับผู้คนจำนวนมาก

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน PRAYKINSON ได้ที่
App Store: https://bit.ly/PRAYKINSONIOS
Play Store: https://bit.ly/PRAYKINSONAndroid