เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ขอน้อมรับข้อท้วงติงจากประชาชน กรณีการสื่อสารจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเวลาประมาณ 13.20 น. ของวันที่ 28 มี.ค. โดยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ทุกคนไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการประชุมเร่งด่วนทันที แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะเป็นผู้กำหนดข้อความ และส่งมายังสำนักงาน กสทช. ขอให้ประสานผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือช่วยส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนประชาชน ดังนั้นหาก ปภ. ส่งข้อความมาล่าช้า หรือส่งข้อความหลายครั้งจำนวนมาก ก็จะทำให้การส่ง SMS มีความล่าช้าออกไปมากขึ้น เพราะระบบการส่ง SMS ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ มีข้อจำกัดจำนวนการส่งต่อครั้งไม่เกินประมาณ 200,000 เลขหมาย
“การสื่อสารส่งต่อข้อความของ ปภ. ไปถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ สำนักงาน กสทช. ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด และได้มีการประสานผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในทันทีหลังได้รับข้อความจาก ปภ. โดยได้ส่งข้อความสั้น ที่ต้องการให้ส่งต่อไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจำนวน 4 ครั้ง คือ ครั้งแรก เวลา 14.30 น. จากนั้นส่งมาอีกครั้งในเวลา 16.00 น. จำนวน 2 ข้อความ และครั้งสุดท้ายส่งมาในเวลา 16.30 น. ซึ่งสำนักงาน กสทช. ก็ได้ส่งข้อความต่อให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในทันที”
นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีระบบเตือนภัย (Cell Broadcast) ผู้ที่เป็นหลักในการจัดทำระบบ จัดหาผู้ดำเนินการ และผู้กำหนดข้อความ คือ ปภ. ส่วนสำนักงาน กสทช. เป็นเพียงผู้สนับสนุนงบประมาณ ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือพร้อมในเรื่องระบบแล้ว เหลือรอระบบจาก ปภ. หากยังดำเนินการไม่ได้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือก็ยังดำเนินการไม่ได้ เพราะระบบจะเชื่อมต่อกัน ซึ่งบางอย่างอาจไม่ได้รวดเร็วในทันที เพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ทุกคนก็พร้อมเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่