เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (31 มี.ค.) นายไพบูลย์ จิตรเสงี่ยม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ว่า พบเจ้าพลายงาเดียว นอนเสียชีวิตอยู่ภายในสวนไม้เบญจพรรณของชาวบ้าน ด้านหลังวัดบ้านดง หมู่ 1 ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก จึงได้รีบแจ้ง นายอุเทน แสวง หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ขญ.13 นางรอง) และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า (ขญ.13 นางรอง) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทราบ

เมื่อเดินทางมาตรวจสอบ พบพลายงาเดียว ช้างป่าเพศผู้ อายุประมาณ 30 ปี นอนตายในลักษณะตะแคงซ้ายลงพื้น จากการชันสูตรซากเบื้องต้น พบว่าซากมีสภาพเน่าเหม็น คาดว่าตายมาแล้วไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง ไม่สามารถระบุร่องรอยการถูกทำร้ายได้เนื่องจากซากเน่าเกินไป อวัยวะภายในเน่า แต่ตรวจพบว่ามีอาหารอยู่ภายในกระเพาะอาหารและพบอุจจาระในลำไส้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บชิ้นเนื้อและอาหารจากกระเพาะ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุการตายที่แน่ชัดต่อไป

เบื้องต้นสันนิษฐานว่า พลายงาเดียวน่าจะติดเชื้อจากการถูกบ่วงรัดก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ทำการถอดงาทั้ง 2 ข้าง นำไปเก็บรักษา ส่วนซากได้นำมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ก่อนทำลายโดยการฝังกลบในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หน่วยพิทักษ์ฯ ที่ 13 (นางรอง) เรียบร้อยแล้ว


สำหรับ “เจ้าพลายงาเดียว” ก่อนหน้านี้เคยถูกพบว่ามีบ่วงติดอยู่ที่ปลายงวง ซึ่งบ่วงดังกล่าวเป็นอันตรายร้ายแรงต่อช้างป่า เนื่องจากงวงเป็นอวัยวะสำคัญที่ช้างใช้ในการหายใจ กิน ดื่ม และสื่อสาร เมื่อถูกบ่วงรัด นอกจากจะเกิดบาดแผลและความเจ็บปวดแล้ว ยังอาจทำให้ช้างไม่สามารถกินอาหารและดื่มน้ำได้อย่างปกติ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ เกิดภาวะขาดน้ำ และอาจเกิดการติดเชื้อจากบาดแผลที่ถูกบ่วงบาด
ที่ผ่านมา ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 ปราจีนบุรี ได้ช่วยกันปลดบ่วงออกจากงวงของพลายงาเดียว หลังจากนั้นได้ปล่อยให้พลายงาเดียวฟื้นจากยาสลบและออกหากินตามธรรมชาติ แต่เพียงแค่ 7 คืนผ่านไป ช้างป่าตัวนี้ก็ถูกพบว่าล้มตายในจุดเดิมที่เจ้าหน้าที่เคยช่วยปลดบ่วงให้
แม้จะยังไม่สามารถระบุสาเหตุการตายที่แน่ชัดได้ แต่ทีมสัตวแพทย์คาดว่า บ่วงอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของช้าง โดยเฉพาะงวงได้รับบาดเจ็บรุนแรง จนส่งผลต่อการกินอาหารและดื่มน้ำ หรืออาจเกิดการติดเชื้อจากบาดแผลที่ถูกบ่วงรัด ซึ่งอาการเหล่านี้อาจไม่แสดงออกในทันที แต่ส่งผลให้ช้างป่าอ่อนแอลงเรื่อยๆ จนเสียชีวิตในที่สุด
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการวางบ่วงดักสัตว์ป่า ซึ่งเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะช้างป่าซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครอง นอกจากนี้การวางบ่วงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมีบทโทษที่หนัก ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังคงรอผลการตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันสาเหตุการตายที่แท้จริงของเจ้าพลายงาเดียวต่อไป.
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช