เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 68 อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ไขข้อข้องใจกรณีโซเชียลได้ออกมาแชร์เรื่องราว “ญี่ปุ่นปลูกไมยราบ” ที่เอาไว้เตือนแผ่นดินไหวนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant
โดยอาจารย์เจษฎ์ ระบุข้อความว่า ญี่ปุ่นไม่ได้นิยมปลูกต้นไมยราบ ไว้แจ้งเหตุแผ่นดินไหวล่วงหน้านะครับ มีการแชร์ข้อมูลภาพต้นไมยราบ พร้อมแคปชั่นทำนองว่า “ประเทศญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นไมยราบไว้ในบ้าน เพราะต้นไมยราบไวต่อแผ่นดินไหว จะสามารถแจ้งเหตุล่วงหน้าได้”

อีกทั้ง “พอลองตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่าเป็นความจริงนะครับ ที่บอกว่าคนญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นไมยราบ เพื่อแจ้งเหตุล่วงหน้า แถมก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ ว่าต้นไมยราพมันสามารถทำเช่นนั้นได้จริง ออกจะเป็นเรื่องเล่า เชื่อตามกันมากกว่า โดยทาง IG ของ wachistudio ซึ่งเป็น content creator ด้านการเพาะพันธุ์และจำหน่ายพืชไม้ประดับ ได้ไปหาข้อมูลและสอบถามคนญี่ปุ่นเพื่อหาคำตอบเรื่องนี้ ว่าจริงหรือไม่ที่ชาวญี่ปุ่นปลูกต้นไมยราบ เพื่อตรวจเช็กแผ่นดินไหว”
นอกจากนี้ “คำตอบก็ คือ ไม่จริงครับ แม้ว่าไมยราบจะเป็นพืชที่ไวต่อการสัมผัส ใบจะหุบเมื่อถูกกระทบ จนบางคนตั้งสมมุติฐานว่า น่าจะเอามาตรวจจับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ แต่ในความเป็นจริง ไมยราบไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจแผ่นดินไหว เพราะการตอบสนองของมัน อ่อนไหวต่อปัจจัยอื่นๆ เช่น ลม หรือน้ำฝน หรือการสัมผัสจากสัตว์เล็กๆ มากกว่าจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั่นเอง”
อย่างไรก็ตาม “คำสรุปก็คือว่า เรื่อง “ต้นไมยราบบอกเหตุแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า” ก็ไม่น่าจะเป็นความจริง เป็นแค่เรื่องเล่าไม่ค่อยต่างอะไรกับที่บอกว่าสัตว์ต่างๆ สามารถแจ้งเตือนแผ่นดินไหวช่วงหน้าได้ ซึ่งไปทางธรณีวิทยานั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่าจริงครับ”
ขอบคุณข้อมูล : Jessada Denduangboripant