เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 กลายเป็นบททดสอบครั้งสำคัญที่สร้างความตื่นตระหนกและตั้งคำถามใหญ่ถึงความพร้อมของเมืองหลวงในการรับมือกับภัยธรรมชาติ จุฬาลงกรณ์ จึงจัดงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 32 ภายใต้หัวข้อ “จุฬาฯ ระดมคิด ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว: เราจะรับมือและฟื้นตัวได้อย่างไร?” เมื่อวันอังคารที่ 1 เมษายน 2568

งานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงาน พร้อมกล่าวว่าวิกฤติแผ่นดินไหวส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนไทย แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว จากเมียนมาส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย งานสัมมนาในวันนี้จะเป็นแนวปฏิบัติการจัดการแผ่นดินไหวที่ถูกต้องแม่นยำ และเป็นคำแนะนำที่ปฏิบัติได้จริง เพราะมีนักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ วิทยาศาสตร์  จะร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤติในครั้งนี้ต่อไป เพื่อให้การแก้ปัญหาได้อย่างสะเด็ดน้ำ

**ย้ำชัดๆๆเหตุแผ่นดินไหวแจ้งเตือนวันเวลาเกิดไม่ได้

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวย้ำว่าเมื่อมีการแจ้งเตือนระบุเวลาว่าเกิดแผ่นดินไหว แสดงว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จ พราะในทางวิทยาศาสตร์สามารถประเมินพื้นที่อ่อนไหวแผ่นดินไหวซึ่งมีหลากหลายวิธี แต่ต่อให้ประเมินแค่ไหนเราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหววันไหน เวลาไหน ส่วนกรณีอาฟเตอร์ช็อกโดยธรรมชาติจะเล็กกว่าเมนช็อก หรือรุนแรงน้อยกว่าการเกิดครั้งแรกเปรียบเหมือนลูกที่จะเล็กกว่าแม่เสมอ กรณีการเกิดแผ่นดินไหวขนาด7.7 ที่ผ่านมา อาฟเตอร์ช็อกที่จะตามมาคือประมาณ 6.6 ซึ่งไม่รุนแรงเท่ากับครั้งแรก และการเกิดอาฟเตอร์ช็อกในครั้งต่อไปจะค่อยๆลดความรุนแรงลง ตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองปารู ประเทศอินโดนีเซีย ขนาด7.7 มีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นประมาณ 500 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นภัยกับมนุษย์ เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกจากแรงอาฟเตอร์ช็อกบ้าง

ศ.ดร.สันติ อธิบายเพิ่มเติมว่า แผ่นดินไหวที่ก่อให้เกิดสึนามิคือการเลื่อนตัวของเปลือกโลกในแนวดิ่งในทันทีทันใด ประเทศไทยมีทะเล 2 ฝั่ง ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ฝั่งอ่าวไทยตัดทิ้งไปเลย ส่วนฝั่งอันดามันมีโอกาสที่จะเกิดสึนามิ ที่เราเคยประสบมาแล้วเมื่อปี 2547 แต่อย่างไรก็ตามต้องการบอกให้ทุกคนสบายใจว่า ครั้งที่แล้วที่เสียหายจำนวนมาก เพราะเราไม่รู้จักสึนามิ ในอนาคตหากเกิดขึ้นอีกครั้งเราอพยพได้แน่นอนเพราะเรารู้จักแล้ว 

ยืนยันว่าในพื้นที่น้ำจืดไม่มีสึนามิในบึงในกว๊านพระเยาไม่มีสึนามิแน่นอน เราเห็นน้ำกระฉอกตามคอนโด ซึ่งตามคลองก็มี อันนั้นเรียกว่า คลื่นเซ็ตแผ่นดินไหวซึ่งเป็นแรงสั่นสะเทือน เป็นลูกแท้ๆของแผ่นดินไหวอีกที สึนามิเป็นเพื่อนของแผ่นดินไหว แต่น้ำกระฉอกเป็นลูกของแผ่นดินไหว ยกตัวอย่างกรณีเกิดแผ่นดินไหว 9.9 เกิดน้ำกระฉอก  แต่น้ำกระฉอกนั้นอันตรายน้อยมากเมื่อเทียบกับสึนามิ

**ทำความเข้าใจกับความรุนแรงของแผ่นดินไหว

ศ.ดร.สันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวัดขนาดพลังงานของแผ่นดินไหว (Magnitude Scale) แมกนิจูดคือขนาดของเหตุการณ์ เอริ์ธเควสแมกนิจูดคือขนาดของแผ่นดินไหว ซึ่งหมายถึงพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจากจุดศูนย์กลาง เมื่อปล่อยออกมาแล้วจะลดทอนแมกนิจูดลงเรื่อยๆ แต่ต่อให้ลดทอนลงแค่ไหนส่งผลกระทบต่อเรา เจ็บแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแต่ละคน และความแข็งแรงจะถูกนำเสนอมาในคำพูดคำจาเพื่อสื่อสาร เช่นระดับ 2 ทำให้โคมไฟสั่น ระดับ 6 บ้านเริ่มร้าว  ระดับ 7-8 อาคารเริ่มเสียหาย และ1แมกนิจูดอาจมีหลายค่าความรุนแรงหรือเมอร์แคลลี (Mercalli) ซึ่งเป็นระดับความรุนแรง ทั้งนี้แต่ละประเทศมีมาตราวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวแตกต่างกัน เช่นญี่ปุ่นมีมาตราวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เรียกว่า “ชินโด” (Shindo) อเมริกามีมาตราที่เรียกว่า “เมอร์แคลลี” ขณะที่ของไทยเราหยิบยกมาตราของอเมริกามาใช้

“ยกตัวอย่างในปีค.ศ.1934 รอยเลื่อนสกายเคยเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองพะโคขนาด 3.3 ซึ่งอยู่ใกล้ประเทศไทยมากกว่า ขณะนั้นอาจารย์ปริญญา นุตาลัย ได้วาดแผนที่ว่ากรุงเทพรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ และอยู่ในระดับเมอร์แคลลีระดับ 3 หมายความว่าวันนั้นรู้สึกสั่นไหว แต่ไม่ได้สร้างความสั่นไหวให้กับอาคารบ้านเรือน ดังนั้นเมืองวันที่28 มี.ค.68ที่ผ่านมาเมอร์แคลลีรี่ระดับ7-8 เพราะทำให้อาคารถล่ม สเกลระดับ12”

**แล้วแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่

ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกมาตอบข้อสงสัยของสังคมว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ว่า ะต้องเกิดขึ้นอีกแน่ๆ เพราะรอยเลื่อนสกาย (Sagaing Fault )เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 1 ครั้ง แต่ไม่ได้เกิดในแขนงเดิม และไม่รู้ได้ว่าจะเกิดตรงไหน ซึ่งรอยเลื่อนสกายเป็นรอยเลื่อนที่ใหญ่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ที่สุดในโลก ในอเมริกาที่ว่าใหญ่แล้ว เจอรอยเลื่อนนี้เมียนมาบอกว่าที่อเมริกากระจอก สกายเป็นชื่อเมืองทางตะวันตกของมัณฑะเลย์อีกที อย่างไรก็ตามรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนที่ อ.ปางมะผ้า ได้ขนานไปกับรอยเลื่อนสกาย มีขนาดเล็กกว่ารอยเลื่อนสกาย แต่เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.2 ซึ่งเราไม่รู้สึก ไม่ใช่อาฟเตอร์ช็อกแต่เป็นระบบแผ่นดินไหวแบบโดมิโน พลังงานของการกระทบชิ่งทำให้รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนมีปัญหา ซึ่งภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ก็มีรอยเลื่อน ภาคกลางไม่มี  แต่มีปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นดินอ่อน ภาคอีสาน ภาคตะวันออกไม่มีรอยเลื่อนแผ่นดินไหว ขณะที่ประเทศไทยแผนที่กรมทรัพยากรธรณีระบุว่าประเทศมีรอยเลื่อนแผ่นดินไหว 16 รอยเลื่อน แต่จริงๆแล้วรอยเลื่อนยังมีแขนงซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบดูได้ว่าแขนงเหล่านี้ ผ่านบ้านเรือนของตัวเองได้หรือไม่ ที่เว็บไซต์ของกรมทรัพยากรธรณี อย่างไรก้ตามเมื่อรู้ว่ามีแขนงเหล่านี้ผ่านไม่ควรจะมีสิ่งก่อสร้างและพัฒนาเมืองในจุดนั้น   ได้แต่ภาวนาว่าไม่ให้รอยเลื่อนนี้ปล่อยพลังงานขนาดใหญ่ ซึ่งรอยเลื่อนปลดปล่อยพลังงานที่ แม่ฮ่องสอนปล่อยน้อยทำให้เราไม่ได้รับผลกระทบ

**คอนโดมีรอยร้าวยังอยู่ได้จริงหรือ??

รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการผลักดันให้เกิดอาคารต้านแผ่นดินไหวได้มาตั้งแต่ปี2540 ในพื้นที่ภาคเหนือ และจ.กาญจนบุรี และในปี2550เริ่มมีกฎหมายบังคับใช้ในพื้นที่กทม. ซึ่งมีการกำหนดขนาดของตึก แต่บ้านเรือนที่เป็นอาคาร 2 ชั้นกฏหมายไม่ได้บังคับให้ออกแบบต้านแผ่นดินไหว ในอดีตที่ผ่านมาประชาชนไม่มีประสบการณ์ตรง ไม่ได้ตระหนักถึงอันตราย ซึ่งรอยเลื่อนสกายมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงถึงระดับ 8  และในทะเลอันดามันมีเขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก

ตึกสูงในกรุงเทพฯอยู่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นทเกิดขึ้นจากสถาปัตยกรรม ที่มาจากการตบแต่ง การกั้นพื้นที่ สำหรับการเกิดความเสียหายที่เนื้อโครงสร้างหลักมีบ้าง แต่จริงๆแล้วถือว่าเป็นแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯสูงสุดแล้ว และการถล่มของอาคารถือเป็นครั้งแรกที่มองเห็นอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธายืนยัน

รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ทำคู่มือสำรวจความเสียหายเบื้องต้นในเอกสารเหล่านี้ประชาชนทั่วไปนำไปใช้ได้ สรุปว่าถ้าโครงสร้างหลักคือเสากับคานเสียหายถือว่าได้รับผลกระทบ ซึ่งตัวเสาสำคัญที่สุด ส่วนผนังไม่กระทบโครงสร้าง แต่อาจพังทลายเป็นอันตรายต่อคนที่อยู่ใกล้เคียงได้ อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ตรวจอาคาร พบว่าวิธีการตรวจ ควรมีแผนผัง แบบแปลนของอาคาร สำหรับรอยร้าวเทคนิคสมัยใหม่สามารถซ่อมได้ แต่ถ้าเป็นมากจะไม่คุ้มกับค่าซ่อม จึงเป็นการตัดสินใจเรื่องความคุ้มค่ามากกว่า

 “ในอนาคตการอยู่ในชุมชนเมืองในคอนโดเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นวิถีของการอยู่อาศัยในอนาคตเพียงแต่ว่าเราต้องยกระดับความปลอดภัยให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาอาคารคอนโดไม่ได้เลวร้าย ความเสียหายที่พบเป็นในส่วนของสถาปัตยกรรม ผนังร้าว กระเบื้องหลุด โครงสร้างหลักเสียหายน้อยมาก คนกรุงเทพยังอุ่นใจได้รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

 **เมื่อคอนโดเสียหายใครรับผิดชอบ

รศ.ดร.อังคณาวดี ปิ่นแก้ว จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯกล่าวว่า เมื่อดูเรื่องความเสียหาย ต้องดูต้นเหตุของความเสียหายแท้จริงว่า มาจากเหตุภัยภิบัติหรือเหตุสุดวิสัย จากกรณีนี้เกิดจากภัยธรรมชาติ เมื่อพูดถึงสิ่งปลูกสร้างแยกเป็น 2 ประเด็นความแตกต่างกรณีเราเป็นเจ้าของคอนโดเข้าไปอยู่อาศัยแล้ว ต้องกระทำดังนี้

1.นิติบุคคลทำกรมธรรม์หรือไม่ เพราะปกตินิติบุคคลต้องทำประกันภัยไว้ ซึ่งจะครอบคลุมถึงทรัพย์สินส่วนกลาง บางนิติอาจคุ้มครองถึงทรัพย์ของลูกบ้านด้วย หรือถ้ากู้ธนาคารในการผ่อนคอนโดจะถูกบังคับให้ทำประกันอยู่แล้ว กรณีถ้าเราเพิ่งซื้อคอนโดส่งมอบเรียบร้อยแล้ว อาจมีกรณีที่ต้องดูเรื่องการรับประกันชำรุดบกพร่อง โดยหลักแล้วชำรุดบกพร่องไม่ครอบคลุมถึงภัยที่เกิดจากความเสียหายจากภัยพิบัติ เว้นแต่ว่าในบางสัญญาจะตกลงไว้ว่าผู้ขายจะรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกสาเหตุ ถ้าไม่มีการตกลงไว้จะไม่อยู่ในความหมายของการชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขาย

2.อาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ปกติแล้วในการทำสัญญามีการตกลงระหว่างผู้ว่าจ้างผู้รับจ้างไว้อย่างไร ถ้าเป็นเอกชนกับเอกชนจะแปรเปลี่ยนไปเลยว่าจะต้องให้รับผิดอย่างไร เป็นเรื่องกระจายความเสี่ยง ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นรัฐ เขาจะต้องใช้สัญญามาตรฐานของรัฐ มีข้อ11บอกไว้ชัดเจนว่า ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบความเสียหายระหว่างก่อสร้าง ถ้ายังไม่ส่งมอบงานงวดสุดท้าย ให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบในความเสียหายรวมถึงเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่ความเสียหายเกิดขึ้นจากความผิดของผู้ว่าจ้าง โดยกรณีตึกถล่มนี้สามารถเทียบเคียงกับอาคารที่กำลังก่อสร้างได้ว่าเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวไม่เกิดเหตุถล่ม  ถ้าผู้รับจ้างมีประกันก็จะมารับผิดชอบในส่วนนี้

กรณีสิ่งก่อสร้างร่วงหล่นจนได้รับบาดเจ็บร่างกาย ต้องกลับไปดูประกันของคอนโดว่ารับผิดชอบกับส่วนนี้หรือไม่ ก่อนอื่นแล้วประชาชนต้องเก็บหลักฐาน ถ่ายรูปถ่ายวิดีโอ

**ประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไรหลังแผ่นดินไหว

นอกจากรอยเลื่อนแผ่นดินไหว 16 รอยเลื่อน ยังมีรอยเลื่อนซ่อนเร้น ได้แก่ รอยเลื่อนถลาง จ.ภูเก็ต รอยเลื่อนศรีษะเกษ รอยเลื่อนบางกระทุ่ม พิษณุโลก นอกจากนี้ยังมีรอยเลื่อนองค์รักษ์จ.นครนายก ยังไม่มีในแผนที่กรมทรัพยากรธรณี คิดว่าในอนาคตควรจะมีการพิสูจน์ เพราะใกล้กรุงเทพ พอๆกับรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ที่ยังไม่ได้บรรจุไว้ในรอยเลื่อนมีพลัง เพราะมีกรณีแผ่นดินไหวที่เมืองไครสต์เชิร์ช  ประเทศนิวซีแลนด์แทบจะไม่มีใครรู้ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สถานการณ์ วันนี้ 1 เม.ย. ุ68อาฟเตอร์ช็อกลดลงตามลำดับแล้ว ระยะห่างการเกิดลดลง ส่วนตัวถ้าโลกไม่เล่นตลก เหตุการณ์น่าไว้วางใจแล้ว วันนี้เราก็ใช้ชีวิตปกติได้ กลับมายิ้มเหมือนเดิม จริงๆเรื่องภัยพิบัติมีบริหารจัดการดีหรือไม่ ต้องกลับมาสู่ลู่วิ่งเหมือนเดิมให้เร็วที่สุดเราต้องสร้างอาคารให้ผู้อยู่อาศัยอุ่นใจเชื่อมั่น

                 “เมื่อเกิดแผ่นดินไหวแนะนำว่าสำหรับประเทศไทย ถ้ามั่นใจในโครงสร้างอาคารหลบใต้โต๊ะดีที่สุด และเมื่อรู้สึกว่าแผ่นดินไหว สิ่งที่ต้องทำคือไปเปิดประตูหน้าต่าง ทิ้งไว้ เพราะระหว่างที่คลื่นแผ่นดินไหวมาแล้ว ทำให้วงกลบบิดเบี้ยว ประตูหน้าต่างแตกหัก จริงๆ เรื่องอพยพไม่ใช่เรื่องยาก ประเด็นคือเรายืนระยะได้พอหรือไม่ เพราะฉะนั้นนั้นเราซ้อมหนีภัยแบบขี้เกียจบ้างขยันบ้าง ยังดีกว่าไม่ซ้อมเลย ง่ายๆสึนามิเมื่อ 2547 ยังซ้อมกันอยู่หรือไม่ เราต้องยืนระยะของการตระหนักการซ้อมอพยพ”ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ทิ้งท้ายให้สังคมตระหนักถึงการเตรียมรับมือภัยพิบัติ