เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 68 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และผู้แทนรัฐสภาไทย พร้อมด้วยนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ หรือ IPU Standing Committee on Peace and International Security ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 150 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ ที่กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 4-11 เม.ย. 2568 ซึ่งจะมีการพิจารณารับร่างข้อมติ ที่จะนำเสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “The role of Parliaments in advancing a two-State solution in Palestine” หรือ บทบาทของรัฐสภาในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง 2 รัฐในปาเลนส์ไตน์ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ร่างข้อมติที่ที่ประชุมใหญ่จะมีการพิจารณา
โดยนายณัฐพงษ์ ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ย้ำว่า ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งอิสราเอล และปาเลสไตน์มาโดยตลอด โดยพร้อมสนับสนุนต่อความพยายามอย่างแข็งขันของทุกฝ่าย ในการผลักดันทางออกของ 2 รัฐ ทำให้ทั้งอิสราเอล และปาเลสไตน์ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และมั่นคงภายใต้พรมแดนที่เป็นที่ยอมรับในสากล สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนมติของสหประชาชาติ พร้อมเห็นว่า การปะทุความรุนแรงระลอกใหม่ของทั้งอิสราเอล และปาเลสไตน์ ได้สร้างความวิตกต่อประเทศไทย เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในอิสราเอล จนนำไปสู่การเสียชีวิตของแรงงานไทย 39 ราย รวมถึงถูกจับเป็นตัวประกัน 32 คน และยังคงถูกควบคุมตัวไว้อยู่อีก 1 คน ซึ่งประเทศไทย ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ช่วยให้แรงงานไทย 5 คนในช่วงที่ผ่านมาได้รับการปล่อยตัว

นายณัฐพงษ์ ยังระบุว่า ร่างมติที่จะเสนอโดยคณะกรรมาธิการประจำด้านสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศนั้น ประเทศไทย มีความเชื่อมั่นว่า “การเจรจาอย่างสันติ” คือกุญแจสำคัญในการยุติข้อพิพาท พร้อมย้ำเป้าหมายเร่งด่วนในการลดความตึงเครียด และฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ ซึ่งประเทศไทย ก็มีความมุ่งหวังที่จะเห็นสันติภาพ ความมั่นคง และประชาธิปไตยที่ยั่งยืนเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ พร้อมขอย้ำจุดยืนประเทศไทยในเรื่องการคุ้มครองบุคลากรของสหประชาชาติ กำลังรักษาสันติภาพ และเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมให้ปลอดภัยจากอันตราย ตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติหน้าที่ และการดำเนินการตามร่างมติดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยบทบาทของรัฐสภา และการมีส่วนร่วมอย่างเป็นเอกภาพของประชาคมระหว่างประเทศ แต่ประสิทธิผลของมติอาจถูกจำกัด หากปราศจากกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังนั้น ประเทศไทยขอเน้นย้ำถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อวางรากฐานแห่งการฟื้นฟูหลังความขัดแย้ง การพัฒนา และการสร้างสันติภาพในระยะยาว.