เมื่อวันที่ 6 เม.ย. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยส่วนประชาสัมพันธ์ เผยแพร่เอกสารระบุใจความ ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สอบสวนดำเนินคดีอาญากรณีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก รวม 19 คน ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 19 ราย ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้พิจารณาสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐาน และมีคำสั่งไม่ฟ้อง ผู้ต้องหา 2 ราย คือ บอสมิน และบอสแซม และส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวมายังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณาว่าจะเห็นแย้งหรือไม่ ตามที่ปรากฏข่าวแล้วนั้น

ล่าสุด พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน และความเห็นของพนักงานอัยการประกอบแล้ว เห็นว่ายังมีข้อเท็จจริงบางประการ ที่สมควรเสนอให้อัยการสูงสุดมีความเห็นชี้ขาด จึงได้ทำความเห็นแย้งเห็นควรฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองราย เสนอไปยังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาชี้ขาดต่อไป

ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า เนื่องด้วยอำนาจการเห็นแย้งคืออำนาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นการเฉพาะ ซึ่งเมื่อครั้งที่ดีเอสไอสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษได้มีการพิจารณาพยานหลักฐานแล้วพบว่าครบองค์ประกอบความผิด จึงดำเนินคดี แต่ทางอัยการเห็นต่างมองว่ารายละเอียดที่มียังไม่เพียงพอที่จะสั่งฟ้อง แต่เมื่อเราพิจารณาจากพยานหลักฐานของเราแล้วก็เห็นควรว่าควรให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดในสิ่งที่เห็นไม่ตรงกัน

ทั้งนี้ กระบวนการหลังจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นแย้ง ขอให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดนั้น อัยการสูงสุดจะเป็นคนออกคำสั่งฟ้องแล้วจะส่งคำสั่งชี้ขาดนี้ไปให้อัยการคดีพิเศษเป็นผู้ฟ้อง แต่ในทางกลับกันถ้าอัยการสูงสุดเห็นด้วยกับอัยการคดีพิเศษที่สั่งไม่ฟ้อง อัยการสูงสุดจะออกคำสั่งไม่ฟ้องและแจ้งไปยังอัยการคดีพิเศษเช่นเดียวกัน แล้วอัยการคดีพิเศษจะได้มีการแจ้งกลับมายังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษไปแจ้งผู้เสียหายและผู้ต้องหาว่าเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ซึ่งเป็นคำชี้ขาดของอัยการสูงสุดแล้ว.