ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” โดยในปี 2565 จำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากถึง 12.1 ล้านคน หรือ 18.3% ของประชากรทั้งหมด ปัญหาสุขภาพสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย คือการพลัด ตก หกล้ม ทำให้ผู้สูงอายูเสี่ยงเป็นผู้พิการในอนาคต

 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จัดการประชุมนำเสนอโครงการต้นแบบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันกระดูกหักและหักบริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทย เพื่อขยายผลการทำงานรองรับสังคมสูงวัยทั่วประเทศ

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักในผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการดูแลอย่างจริงจัง เพราะเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยโดยตรง โรงพยาบาลศิริราชมีการพัฒนาแนวทางในการดูแลรักษาและป้องกันอุบัติการณ์นี้ โดยเน้นการตรวจคัดกรองความเสี่ยงในกลุ่มผู้สูงอายุ และพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อติดตามและให้คำแนะนำด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้โดยเร็วที่สุด โดยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงภาครัฐและเอกชน

“ศิริราช ร่วมกับ สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย สสส. บริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด และภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการ เดินดีไปด้วยกัน” ที่มุ่งเน้นการป้องกันการหกล้มโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ผ่านระบบ “กระเป๋าสุขภาพ” บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และ LINE @NHSO ได้ถูกนำมาใช้ เพื่อติดตามสุขภาพของผู้สูงวัยอย่างต่อเนื่อง ด้วยเทคโนโลยีของระบบเก็บข้อมูลโครงการต้นแบบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบในการเฝ้าระวังและป้องกันกระดูกหักบริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทย และประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ และวางแผนป้องกันการพลัดตกหกล้มได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ศ.นพ.อภิชาติ

ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และนายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพลัดตก หกล้ม ป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักให้ได้มาตรฐาน โดยส่งเสริมให้มีการผ่าตัดรักษาที่รวดเร็วและมีคุณภาพสูงสุด การรักษาที่ทันท่วงทีช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถฟื้นฟูร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้ผลักดันให้เกิดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับประชากรไทย รวมถึงสนับสนุนการฝึกอบรมแพทย์ออร์โธปิดิกส์เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น

“ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดขยายมาจาก “น่านโมเดล” ด้วยความร่วมมือจาก สสส. และภาคีเครือข่าย ผ่านเทคโนโลยีและระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โครงการต้นแบบนี้บูรณาการข้อมูลสุขภาพและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้ผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายหลัก

1.พัฒนาบุคลากรและอาสาสมัครให้เป็นต้นแบบในการป้องกันการหกล้ม

2.ออกแบบแนวทางป้องกันที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ครอบคลุมทั้งในกลุ่มที่ยังไม่เคยหักรวมถึงกลุ่มที่เคยกระดูกหักแล้วเพื่อป้องกันการหักซ้ำ

3.สร้างระบบติดตามดูแลผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการหกล้ม

4.ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์เพื่อวางแผนนโยบายสุขภาพที่ยั่งยืน ซึ่งพบว่าจำนวนผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักรายใหม่และหักซ้ำ ลดลงกว่า 20% จากนี้จะขยายผลการดำเนินโครงการเฝ้าระวังการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุทั่วประเทศ

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากสถิติทางทะเบียนประชากรไทยได้ก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” โดยในปี 2565 จำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากถึง 12.1 ล้านคน หรือ 18.3% ของประชากรทั้งหมด ปัญหาสุขภาพสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย คือการพลัด ตก หกล้ม ซึ่งนำไปสู่ภาวะกระดูกหัก โดยเฉพาะกระดูกสะโพก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความพิการและอัตราการเสียชีวิตที่สูงถึง 30-50% ภายใน 1 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การป้องกันการพลัด ตก หกล้มในผู้สูงอายุ เป็นหัวใจสำคัญของการลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะทุพพลภาพ สสส. ได้หนุนเสริมโครงการต้นแบบ “เดินดีไปด้วยกัน” ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย  เพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังและป้องกันกระดูกหักในผู้สูงอายุ โดยมีระบบสารสนเทศต้นแบบการดูแลและเฝ้าระวังผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง ในพื้นที่นำร่อง 11 จังหวัด 1 เขต พบว่าอัตราการล้มใหม่และล้มซ้ำ ลดลง 10% อัตราการเสียชีวิต 1 ปีหลังกระดูกสะโพกหักและได้รับการผ่าตัดเหลือเพียง 15% มีผู้สูงอายุเข้าถึงมาตรการประเมินความเสี่ยงและการติดตาม 70% ของพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ