สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ว่า นางเอมีลี เบนสัน จากบริษัทให้คำปรึกษาด้านนโยบาย มิเนอร์วา เทคโนโลยี กล่าวว่า จีนเคยกำหนดเป้าหมายเฉพาะบางอุตสาหกรรม เพื่อ “ตอบโต้” ข้อจำกัดการส่งออกของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม แผนงานโดยรวมที่เปิดเผยรอบนี้ ถือเป็น “สัญญาณเตือนที่สำคัญ” ต่อรัฐบาลทรัมป์ ว่าให้ชะลอมาตรการเพิ่มเติม
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า สหรัฐส่งออกสินค้าไปยังจีนมูลค่า 144,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.0 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2567 ซึ่งน้อยกว่าการนำเข้ามูลค่า 439,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15.3 ล้านล้านบาท) มาก โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เชื้อเพลิงต่าง ๆ น้ำมันพืช และธัญพืช
นายลินน์ ซอง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็นจีประจำจีน เตือนว่า แม้สหรัฐยังคงเป็นตลาดที่สำคัญมาก แต่ปัจจุบัน บริษัทในจีนที่พึ่งพาซัพพลายเออร์จากอเมริกาลดลงมาก ขณะที่จีนมีความพยายามพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ด้านนางเวนดี คัตเลอร์ รองประธานสถาบันเอเชียโซไซตี วิเคราะห์ว่า เกษตรกรสหรัฐจะต้องแบกรับภาระหนัก เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนอาจมีราคาแพงเกินกว่าจะแข่งขันได้ ทั้งนี้ ตามข้อมูลการค้าของสหรัฐ การส่งออกถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดพืช และธัญพืชบางชนิดไปยังจีน มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 13,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 466,842 ล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว
ขณะที่นายสก็อตต์ เกิร์ลต์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของสมาคมถั่วเหลืองอเมริกัน เปิดเผยว่า จีนซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐ 52% เมื่อปีที่แล้ว เมื่อคำนึงถึงปริมาณการซื้อดังกล่าว บ่งชี้ชัดเจน ว่ายากที่จะมีประเทศใดทัดเทียมกำลังการซื้อของจีน
ส่วนเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐส่งออกเครื่องจักรไฟฟ้าไปยังจีน รวมมูลค่าประมาณ 15,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 532,852 ล้านบาท) แต่การขนส่งเซมิคอนดักเตอร์กลับชะงักลง จากการที่รัฐบาลวอชิงตันขยายการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง
ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการจำกัดการส่งออกธาตุหายาก รวมถึงควบคุมการขุดแร่ธาตุหายาก 69% และควบคุมการกลั่นน้ำมัน 90% นอกจากนั้น รัฐบาลปักกิ่งลงดาบบริษัทอเมริกันอีกหลายแห่ง เช่น ผู้ผลิตโดรนและอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและอวกาศ
ส่วนที่ปรึกษาจากมิเนอร์วา เทคโนโลยี เตือนว่า การตอบโต้เหล่านี้จะเป็น “จุดคอขวด” ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเซมิคอนดักเตอร์ แม่เหล็ก ออปติก และเลเซอร์ และสหรัฐอาจต้องเผชิญความเสี่ยง “ค่อนข้างมาก” เนื่องจากไม่มีนโยบายมอบเงินก้อนใหญ่สำหรับ “การผลิตในประเทศ”.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES