กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัวนวัตกรรมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ ลดขั้นตอนการทำงาน สอดรับนโยบาย “อว. for AI” ของ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว.โดยพัฒนาระบบร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) นับเป็นการปฏิรูปกระบวนการทำงานครั้งสำคัญของกระทรวง อว.ที่จะขยายผลสู่งานด้านอื่นๆ ในอนาคต

@การปฏิวัติกระบวนการตรวจสอบและรับรองหลักสูตร ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. ศ.เกียรติคุณปานสิริ พันธุ์สุวรรณ ประธานกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา(กมอ.) และ ผศ.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองประธานคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาระดับหลักสูตร ได้นำเสนอสาระสำคัญของการปรับกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานหลักสูตรผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาในหลักสูตรการศึกษา (Curriculum Information System for Higher Education Accreditation: CISA) โดยมีจุดเด่นคือการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้

ศ.เกียรติคุณปานสิริ กล่าวว่า “ร่างประกาศนี้ จะเป็นการพลิกโฉมกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาของประเทศ ผ่านระบบ AI ซึ่งจะทำให้ถูกต้อง แม่นยำและเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น”
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจสอบมาตรฐานหลักสูตรเป็นภารกิจสำคัญของสำนักงานปลัดกระทรวง อว.ที่ต้องสร้างความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของทุกหลักสูตรทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี โท และเอก ในทุกสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและนอกสังกัด อว. แต่กระบวนการเดิมใช้ทรัพยากรบุคคลและเวลาจำนวนมาก สำนักงานปลัดกระทรวง อว.จึงร่วมมือกับ มข.พัฒนาระบบตรวจสอบผ่าน Generative AI ทั้ง ChatGPT และ Gemini และอนาคตอาจเป็นอื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งมีการทดลองใช้มาระยะหนึ่งจนมั่นใจในประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบาย “อว. for AI” ของ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว.
@เทคโนโลยี AI เพื่อการตรวจรับรองหลักสูตรอัจฉริยะ ระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นได้ต่อยอดจากแพลตฟอร์ม KKU IntelSphere ของ มข. มาปรับใช้เป็นระบบของกระทรวง อว. โดยการพัฒนา system instruction เฉพาะทาง ที่ทำให้ AI สามารถทำงานตรวจสอบเอกสารหลักสูตร (PDF) และวิเคราะห์ความสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปัจจุบันได้เลือกใช้ Gemini 2.5 Pro ซึ่งเป็นโมเดลล่าสุดของ Google ในการตรวจสอบ ซึ่งพบว่ามีผลการตรวจสอบที่มีความแม่นยำและเชื่อถือได้สูง และหากในอนาคตมีโมเดลที่ออกมาใหม่และมีความสามารถที่สูงกว่า ระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถเปลี่ยนไปใช้โมเดลใหม่ได้ทันที ทั้งนี้คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาระดับหลักสูตรเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้การตรวจสอบหลักสูตรมีความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด
ระบบดังกล่าวสามารถวิเคราะห์หลักสูตรใน 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ความสอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ตรวจสอบองค์ประกอบสำคัญ เช่น การอนุมัติจากสภาสถาบัน ชื่อหลักสูตร ชื่อปริญญา โครงสร้างหลักสูตร และคุณสมบัติของอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร 2.ความสอดคล้องของผลลัพธ์การเรียนรู้ ตามมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา 3.การดำเนินการจัดการหลักสูตร วิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล 4.ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนของประเทศและพันธกิจของสถาบัน
5.การวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและตลาดแรงงาน และ 6.การนำความคาดหวังของผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพัฒนาหลักสูตร
ระบบดังกล่าวทำงานโดยการประมวลผลเนื้อหาในเอกสารหลักสูตร แล้ววิเคราะห์เทียบกับฐานความรู้ด้านมาตรฐานการศึกษาที่ได้ถูกป้อนเข้าไปในระบบ AI จากนั้นจึงประเมินและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ พร้อมระบุจุดที่หลักสูตรควรปรับปรุงอย่างชัดเจนเป็นภาษาไทย
@ต้นแบบการขยายผลสู่งานอื่น ๆ ของกระทรวง
น.ส.ศุภมาส ในฐานะเจ้าของนโยบาย “อว. for AI” กล่าวว่า ความสำเร็จของการนำ AI มาใช้ในการตรวจรับรองหลักสูตรนี้ จะเป็นต้นแบบสำคัญที่กระทรวง อว. วางแผนจะขยายผลไปยังงานอื่น ๆ โดยเฉพาะการตรวจสอบการปรับตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ต้องใช้การวิเคราะห์เอกสารจำนวนมากและต้องการความแม่นยำสูง
กระทรวง อว.มีแผนพัฒนาการใช้งาน AI ในอนาคตเพื่อยกระดับระบบราชการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีแนวทางนำไปประยุกต์ใช้ในงานสำคัญอื่นๆ เช่น การวิเคราะห์คุณภาพผลงานทางวิชาการ การประเมินโครงการวิจัย การจัดทำและวิเคราะห์ฐานข้อมูลการศึกษา รวมถึงการให้บริการระบบสารสนเทศแก่ประชาชนและบุคลากรในวงการการศึกษา
“ระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถเรียนรู้และปรับปรุงประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่อง จากการรับข้อมูลป้อนกลับของผู้ใช้งาน ซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์และประเมินผลมีความแม่นยำยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกจะมีผู้เชี่ยวชาญตรวจทานควบคู่ไปกับระบบ AI เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของผลลัพธ์” น.ส.ศุภมาส กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การนำ AI มาใช้ในการตรวจรับรองหลักสูตรจะช่วยลดระยะเวลาการดำเนินการลงได้มากกว่า 60% เมื่อเทียบกับระบบเดิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสถาบันการศึกษาที่ต้องการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและความต้องการของตลาดแรงงาน.