รายงานล่าสุดจาก The Guardian สหราชอาณาจักร ที่ได้มีการอ้างอิงผลวิจัยระดับโลก เผยให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่ากังวลเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติก โดยพบว่าในปี 2022 ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกสูงถึง 400 ล้านตัน แต่กลับมีการนำไปรีไซเคิลเพียง 9.5% หรือประมาณ 38 ล้านตันเท่านั้น ซ้ำร้าย พลาสติกกว่า 98% ที่ผลิตขึ้น ยังมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ถ่านหินและน้ำมัน’
แม้ว่าบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งจะมีการโฆษณาถึงการใช้พลาสติกรีไซเคิลเพิ่มขึ้น ทว่าผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Communications Earth & Environment กลับชี้ให้เห็นว่า ปริมาณพลาสติกที่ถูกกำจัดด้วยการเผาทำลาย (Incineration) มีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่สัดส่วนการรีไซเคิลพลาสติกทั่วโลกในปีเดียวกันนั้นอยู่ที่เพียง 27.9% เท่านั้น
ขยะพลาสติก วิกฤตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
หากย้อนกลับไปในปี 1950 ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกเพียง 2 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันปริมาณดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 400 ล้านตัน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านตันต่อปีภายในปี 2050 ซึ่งนักวิจัยระบุว่า “มลพิษจากพลาสติกได้กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชน”
เมื่อพิจารณาถึงปริมาณการผลิตและการบริโภคพลาสติก จะพบว่า จีนยังคงเป็นประเทศที่มีบทบาทสูงสุดทั้งในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ของการบริโภคต่อหัว ประชาชนในสหรัฐอเมริกามีอัตราการใช้พลาสติกเฉลี่ยสูงถึง 216 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ตามมาด้วยญี่ปุ่น (129 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (86.6 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) โดยขยะพลาสติกส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเป็นบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
นอกจากนี้ ข้อมูลทางสถิติจากทั่วโลกยังชี้ให้เห็นว่า ขยะพลาสติกจำนวนมากถึง 40% หรือประมาณ 103.37 ล้านตัน ถูกนำไปฝังกลบ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าระบบการจัดการขยะในปัจจุบันยังห่างไกลจากความยั่งยืนอยู่มาก
การเจรจาระดับโลกยังไม่ประสบความสำเร็จ
สำหรับการเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยขยะพลาสติกระดับโลก ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดือนธันวาคมในปีที่ผ่านมานั้นค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบาก และมีทีท่าจะล้มเหลว เนื่องจากประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่อย่าง ซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ได้คัดค้านข้อกำหนด ‘เพดานการผลิตพลาสติก’
อย่างไรก็ตาม ยังมีมากกว่า 100 ประเทศที่สนับสนุนร่างข้อตกลงที่มีข้อผูกพันทางกฎหมายในการลดการผลิตพลาสติกทั่วโลก รวมถึงการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวโดยมีกำหนดการที่จะเปิดเวทีเจรจาอีกครั้ง ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้
แล้วไทยอยู่ตรงไหนของสมรภูมิจัดการขยะ?
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปี 2565 เผยว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยรวมถึง 26.95 ล้านตัน หรือเฉลี่ยวันละกว่า 73,000 ตัน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นขยะพลาสติกและโฟมสูงถึง 2.7 ล้านตันต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 7,000 ตันต่อวัน ซึ่ง ‘ถุงพลาสติก’ คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของขยะพลาสติกทั้งหมด
แม้ว่ารัฐฯและเอกชนจะมีการพยายามผลักดันนโยบายเพื่อลดการใช้พลาสติก ไม่ว่าจะเป็นการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ การรณรงค์ให้ประชาชนใช้ถุงผ้า รวมถึงการส่งเสริมการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยยังสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกได้เพียงประมาณ 25% ของปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นทั้งหมด นั่นหมายความว่าขยะพลาสติกราว 2 ล้านตันต่อปี ยังคงต้องถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบหรือเผาทำลาย ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และสารพิษจากการฝังกลบที่อาจปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำและดิน
ไม่เพียงเท่านี้ พฤติกรรมการใช้พลาสติกของคนไทยยังคงอยู่ในระดับที่สูง จากผลสำรวจล่าสุดในปี 2567 พบว่า ประชาชนกว่า 72.6% ยังคงใช้ถุงพลาสติกเป็นประจำ รองลงมาคือ ขวดพลาสติก (57.7%) และหลอดพลาสติก (43.5%) แม้ว่าจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มหันมาใช้ถุงผ้าหรือพกพาภาชนะส่วนตัว แต่ ‘ขยะพลาสติกหลังการใช้งาน’ ส่วนใหญ่มักถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป และมักจะจบลงด้วยการถูกนำไปเผาในพื้นที่ชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง
ในขณะที่ประชาคมโลกกำลังหารือกันเพื่อจัดทำสนธิสัญญาลดการผลิตพลาสติก ประเทศไทยควรเร่งทบทวนและยกระดับแนวทางจัดการขยะพลาสติกในประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งในด้านนโยบายและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน อาทิ
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลภายในประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้น ทั้งในด้านเทคโนโลยี การจัดเก็บ และกระบวนการผลิต
- พัฒนาระบบแยกขยะต้นทางอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ครัวเรือนไปจนถึงระดับชุมชน
- สร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจลดการใช้พลาสติกใหม่ และหันมาใช้วัสดุรีไซเคิลมากขึ้น
- เร่งออกกฎหมายและบังคับใช้มาตรการควบคุมพลาสติกใช้ครั้งเดียว โดยเฉพาะในภาคอาหาร บรรจุภัณฑ์ และร้านค้าปลีก
- เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเห็นผลกระทบที่แท้จริงจากขยะพลาสติกต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ หากประเทศไทยสามารถยกระดับการจัดการขยะพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาภาระด้านสิ่งแวดล้อมภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายระดับโลกเกี่ยวกับการลดการผลิตและการใช้พลาสติกอย่างจริงจังในอนาคตได้อีกด้วย