“นี่คือสิ่งที่เราต้องการในปัจจุบัน เราจะเปลี่ยนสิ่งที่ไร้ค่า ให้กลายเป็นสิ่งที่มีค่าได้อย่างไร?” เคลิฟี กล่าวขณะถือกากมะกอกอัดแน่นจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นกากที่เหลือจากการสกัดน้ำมัน

ครัวเรือนชนบทในตูนิเซีย เผากากมะกอกเพื่อทำอาหารและทำความร้อน หรือใช้มันเป็นอาหารสัตว์มาหลายชั่วอายุคนแล้ว ซึ่งสภามะกอกนานาชาติ (ไอโอซี) ประเมินว่า ตูนิเซียจะกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันมะกอกรายใหญ่อันดับสามของโลกในปีนี้ โดยคาดว่าจะมีผลผลิต 340,000 ตัน แต่ในขณะเดียวกัน กากมะกอกที่เกิดจากการสกัดน้ำมัน ก็มีปริมาณมหาศาลด้วย

เคลิฟี ซึ่งเป็นวิศวกรที่เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร ก่อตั้งบริษัท ไบโอฮีต (Bioheat) เมื่อปี 2565 เพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยเขาเล่าว่าเคยเห็นคนงานในโรงงานมะกอก ใช้กากมะกอกเป็นเชื้อเพลิง

“ผมสงสัยมาตลอดว่า วัสดุนี้สามารถเผาไหม้เป็นเวลานานโดยไม่หมดไปได้อย่างไร นั่นจึงทำให้ผมถามตัวเองว่า ทำไมถึงไม่เปลี่ยนมันให้เป็นพลังงานล่ะ” เคลิฟี กล่าวเพิ่มเติม

นอกเหนือจากผลกำไร เคลิฟียังหวังว่า บริษัทสตาร์ตอัปของเขาจะช่วยลดการใช้ไม้ฟืน เนื่องจากตูนิเซียเผชิญกับการตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ที่เวิร์กช็อปของเคลิฟี พนักงานจะขนกากมะกอกลงจากรถบรรทุกหลายคัน และรวมกันเป็นกองสูง ก่อนที่จะใส่เข้าไปในเครื่องแปรรูป จากนั้นกากมะกอกจะถูกอัดแน่นเป็นก้อนทรงกระบอก และถูกนำไปตากให้แห้งเป็นเวลา 1 เดือนในเรือนกระจก ก่อนที่จะนำไปบรรจุหีบห่อและจำหน่าย

ทั้งนี้ เคลิฟีเริ่มพัฒนาแนวคิดของเขาในปี 2561 หลังเขาเดินทางไปทั่วยุโรป เพื่อตามหาเครื่องจักรที่สามารถเปลี่ยนกากมะกอกให้เป็นเชื้อเพลิงที่เผาไหม้ได้นาน แต่เนื่องจากไม่สามารถหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมได้ เขาจึงกลับไปยังตูนิเซีย และใช้เวลา 4 ปีในการทดลองกับมอเตอร์และชิ้นส่วนเครื่องจักร
ต่าง ๆ

ภายในปี 2564 เคลิฟีได้พัฒนาเครื่องจักรที่ผลิตกากมะกอกอัดก้อน ที่มีความชื้นเพียง 8% โดยเขากล่าวว่า ตัวเลขข้างต้นช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับไม้ฟืน ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือนในการทำให้แห้ง และมันมักจะกักเก็บความชื้นไว้ได้มากกว่า 2 เท่า

ด้าน นายนูเรดดีน นาสร์ผู้สันทัดกรณีด้านการพัฒนาเกษตรกรรมและชนบท กล่าวว่า ตูนิเซียผลิตกากมะกอกประมาณ 600,000 ตันต่อปี ซึ่งการใช้ประโยชน์จากกากเหล่านี้ สามารถปกป้องสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างความมั่งคั่ง และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าอย่างหนักของประเทศได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการอย่างเคลิฟี การเปิดบริษัทสตาร์ตอัปในตูนิเซีย เต็มไปด้วยความท้าทาย และอุปสรรคใหญ่ที่สุดคือ “เงินทุน” แต่เคลิฟีกล่าวว่า เป้าหมายของเขาในตอนนี้ คือ การฝากฝังแนวคิดในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของตูนิเซีย และเขาหวังว่า มันจะเป็นการเปลี่ยนผ่านของทั้งโลกเช่นกัน.