ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกรมการค้าภายใน ชี้แจงว่าราคาเนื้อหมูยังไม่ได้แพงขึ้นจากปีก่อน โดยราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มยังขายไม่เกิน กก. 80 บาท  ส่วนหมูเนื้อแดงไม่ตัดแต่งเฉลี่ย กก. 135-140 บาท และราคาในห้างค้าปลีกค้าส่งเพียง119–122 บาท ล่าสุดได้รับร้องเรียนจากประชาชน และพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารหลายแห่งว่า ไม่พบราคาเนื้อหมู กก. 122 บาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์ชี้แจง โดยราคาตามท้องตลาดปรับขึ้นมาที่ กก. 160-170 บาท และหากเป็นหมูสามชั้น ขึ้นไปถึง กก. 180-190 บาท หรืออย่างภาคอีสานแจ้งว่าขึ้นไป กก. 180 บาท ดังนั้นจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ระบุสถานที่หมูราคาถูกให้ชัดเจนกว่านี้ รวมถึงดูแลราคาในต่างจังหวัดด้วย ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพียงอย่างเดียว 

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบอาหารสัตว์ไม่ได้เป็นตัวการที่ทำให้ราคาสินค้า เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ปรับแพงขึ้น โดยราคาอาหารสัตวที่เพิ่มมาจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี ซึ่งขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 64 ประมาณ 15% จนกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงหมู และไก่ของเกษตรกร รวมถึงราคาสินค้าแพงขึ้นตามมา ส่วนแนวทางการแก้ไข ผู้ผลิตอาหารสัตว์คงไม่สามารถตรึงราคาเหมือนที่กระทรวงพาณิชย์เคยทำในอดีตได้อีก เพราะรอบนี้เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก และต้นทุนๆต่างก็ขึ้นมากสุดรอบ 10 ปี เช่น ข้าวโพด กก. 11 บาท หากตรึงผู้ผลิตก็อยู่ไม่ได้ และทำลายวงจรการเกษตรพังไปด้วย  

ทั้งนี้ อยากให้รัฐปรับระเบียบยการค้าภายในเพื่อลดความเดือดร้อน เช่น การกำหนดเพดานซื้อขายข้าวโพดขั้นสูงสุด เพื่อช่วยเหลือคนเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ และประชาชนไม่ให้บริโภคของแพง เพราะก่อนหน้านี้มีการประกันรายได้สินค้า กก.ละ 8.50 บาทเพื่อช่วยชาวไร่แล้ว ดังนั้นเมื่อตอนนี้สินค้าแพงก็ควรมีเพดานขั้นสูงเพื่อช่วยฝั่งผู้บริโภคเช่นกัน รวมถึงเปิดเสรีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้จำกัดแค่บางเดือน เพื่อให้สามารถนำข้าวโพดเพื่อนบ้านที่ถูกกว่าไทย กก.1-2 บาท เนื่องจากในประเทศผลิตไม่พอใช้ ต้องนำเข้าปีละ 3 ล้านตันอยู่แล้ว ควบคู่ไปกับขึ้นทะเบียนพ่อค้าเพื่อควบคุมปริมาณนำเข้า ไม่ให้กระทบต่อราคาในประเทศ