อุณหภูมิการเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยชี้ขาด แกนนำม็อบราษฎร 3 คนประกอบ (1) นายอานนท์ นำภา (2) นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” และ (3) น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” เข้าข่ายใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49

คดีนี้ นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องปี 2563 จากกรณีผู้ถูกร้องทั้ง 3 พร้อมพวกจัดชุมนุมปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เสนอ 10 ข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563

ภายหลังใช้เวลาพิจารณานานกว่า 1 ปี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดสรุป 3 ประเด็นสำคัญ

(1) ประเด็นแรก ศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันหลักการ พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันแต่อดีตถึงปัจจุบันและจะต้องดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคตเพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้

(2) ประเด็นที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาดการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการปลุกระดม ใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ทำให้เกิดความแตกแยก บ่อนทำลาย ด้อยคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์

(3) ประเด็นที่สามศาลรัฐธรรมนูญ อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสองสั่งให้ ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่าย เลิก การกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดซึ่งมีผลผูกพันทุกองค์กร ครอบคลุมฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211

แรงกระเพื่อมหลังจากนี้จะนำไปสูมหกรรมเหมาเข่งตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีอาญาทุกคน-ทุกกลุ่มที่ถูกมองเป็นเครือข่ายม็อบราษฎรอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง!

(1) ในมุมนายอานนท์, นายภาณุพงศ์ และน.ส.ปนัสยา เมื่อถูกตีตราประทับเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผลลัพธ์ที่ตามมาสุ่มเสี่ยงนำไปสู่การตั้งข้อกล่าวหาหนักในหมวดความมั่นคงโดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ข้อหากบฏโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

(2) ในมุมการเคลื่อนไหวของม็อบราษฎร และภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ จะทำได้ยากมากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

เนื่องด้วยประเด็นมาตรา 112 จะถูกนำไปผูกโยงกับ 1 ใน 10 ข้อเรียกร้องการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมองภาพรวมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(3) ในมุมพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล สุ่มเสี่ยงถูกโยงเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่าย เปิดช่องนำไปสู่การ ร้องเรียน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลากขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การยุบพรรค เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ประหารชีวิตทางการเมือง 10 ปี ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92

หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยกำลังเดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เริ่มเห็นเมฆดำตั้งเค้าทะมึน ส่งสัญญาณพายุลูกใหญ่กำลังใกล้เข้ามา!