ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขอำเภอโนนสัง จ.หนองบัวลำภู นายเพทาย จรกระโทก ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง อ.โนนสัง เป็นประธานเปิดการเสวนาขับเคลื่อนงานป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ลดปัจจัยเสี่ยงอำเภอโนนสัง โดยเยาวชน Youth Stopdrink Network (YSDN) มีนางวรลักษณ์ พูดเพราะ ผู้ประสานงานศูนย์เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนบน จ.ขอนแก่น ร่วมกับ นางวิริยา แก่นปัดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จ.หนองบัวลำภู ร่วมกันจัดขึ้น มีนายราชันย์ ท้าวพา สสอ.โนนสัง ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนเทศบาลตำบลโนนสัง ผู้แทนอบต. ผู้แทนกศน. ครูและนักเรียน ตลอดจนแกนนำชุมชน ภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมในพื้นที่เข้าร่วม

นางวรลักษณ์ กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนงานป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และลดปัจจัยเสี่ยง โดยภารกิจความรับผิดชอบภาคอีสานตอนบน มีอยู่ 2 อำเภอที่มีการลงพื้นที่สำรวจคือ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น และอ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู จากการสำรวจของนักวิชาการจากศูนย์วิจัยปัญหาสุราพบว่า จ.หนองบัวลําภู มีเยาวชนที่เป็นนักดื่มหน้าใหม่ ติดอันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปีและจากผลการสำรวจยังพบนักดื่มหน้าใหม่ อายุ 7 ขวบ และที่สำคัญการเริ่มครั้งแรกเริ่มจากพ่อแม่และคนในครอบครัว จากการลองชิมหลังจากที่ดื่มก็ติดใจก็จะดื่มต่อ บางคนก็ไม่ชอบเลยแต่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเข้าไปสัมผัส

ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ อ.โนนสัง ปี 2564 จากฐานข้อมูลจากประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไปจำนวน 40,733 คน คัดกรองสุขภาพ 18,670 คน คิดเป็นร้อยละ 45.84 พบว่า ดื่มแอลกอฮอล์ 9,397คิดเป็นร้อยละ 37.34 แยกเป็น ดื่มเสี่ยงต่ำ 6,939 คน คิดเป็นร้อยละ 99.50 ดื่มเสี่ยงปานกลาง 31 คน คิดเป็นร้อยละ 0.44 ดื่มเสี่ยงสูง 4 คน คิดเป็นร้อยละ 0.06 (แหล่งข้อมูลสำนักงานสาธารณสุขอำเภอโนนสัง)

ดังนั้นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้เวลาว่างของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ อ.โนนสัง จึงควรส่งเสริมให้ได้ทำกิจกรรมตามความสามารถหรือความสนใจโดยเน้นการใช้เวลาว่างให้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดอันได้แก่ เหล้า บุหรี่ สารเสพติดทุกชิด และเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้เยาวชนในพื้นที่รู้จักโทษของสารเสพติด สร้างเยาวชนที่เข้มแข็งในพื้นที่ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีกิจกรรมให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ อ.โนนสัง

จากที่มาและความสำคัญดังกล่าวทางโครงการจึงได้ทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ ทัศนคติพฤติกรรมที่มีต่อการดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้เวลาในการทำกิจกรรมของเยาวชน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ใน 9 ตำบล ของ อ.โนนสัง จึงนำมาวิเคราะห์และสรุปผลเพื่อคืนข้อมูลให้ภาคีเครือข่ายในอำเภอร่วมดำเนินการเพื่อสร้างการรับรู้อันจะเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวให้น้อยลงต่อไป