เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีการแชร์ข้อความทางโซเชียลมีเดียว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ให้นายอนุทิน เข้าประเทศเพื่อร่วมประชุมองค์การอนามัยโลก เนื่องจากไม่ รองรับการฉีดวัคซีนซิโนแวค และวัคซีนสูตรไขว้โดย รมว.สาธารณสุข ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และได้วัคซีนแอสตราเซเนกาเพียง 1 เข็ม จึงต้องฉีดแอสตราฯ เพิ่มอีก 1 เข็ม เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศปลายทาง ว่า ตนไม่คิดว่าเป็นดราม่าอะไร ขณะนี้มีการเปิดประเทศเดินทางไปมาซึ่งแต่ละประเทศมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศต่างกัน เราทำตามข้อกำหนดของประเทศปลายทาง เช่นเดียวกับประเทศไทยมีข้อกำหนดว่าคนที่จะเข้ามาได้จะต้องฉีดวัคซีนที่ไทยยอมรับ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้รับทุกยี่ห้อ ยังมีหลายยี่ห้อที่ไม่รับ คนที่จะเข้าประเทศโดยมาตรการ Thailand pass ต้องฉีดวัคซีนที่กำหนด ไม่เช่นนั้นต้องกักตัว 14 วันตามมาตรการสาธารณสุข

นายอนุทิน ยืนยันการประชุมองค์การอนามัยโลกวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค. ตนเข้าร่วมได้ตามปกติ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ให้เข้าประเทศ ทั้งนี้ในการประชุมจะมีการหารือหลายเรื่องและแลกเปลี่ยนประสบการณ์โควิดของแต่ละประเทศ

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การอนุญาตผู้เดินทางเข้าประเทศต่างๆโดยกำหนดการฉีดวัคซีน เป็นเรื่องปกติ เช่น ไทยใช้ซิโนแวค, ซิโนฟาร์ม, แอสตราฯ, ไฟเซอร์, โมเดอร์นา ทั้งการฉีดปกติและการฉีดไขว้ ตามข้อมูลวิชาการ ดังนั้น บางประเทศไม่รับวัคซีนไขว้ แต่ไทยรับเพราะเราใช้ข้อมูลที่ไทยมีเช่นเดียวกัน วัคซีนพาสสปอร์ตไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยตัวมันแต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขประเทศปลายทางว่าเขารับอะไร เช่น สหรัฐอเมริการับทุกตัวเพราะเขาคิดแล้วว่าประชากรเขาอยู่ในหลายประเทศ หากไม่รับบางอันต้องวุ่นมาก หากคนอเมริกันกลับประเทศอังกฤษรับซิโนแวค ซิโนฟาร์มแล้ว สุดท้ายทุกประเทศจะโอเคหมดแต่มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเราต้องทำตามกติกา โดยไทยน่าจะยืดหยุ่นสุดแล้ว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่าประเทศไทยยังไม่ได้บรรจุการอนุญาตวัคซีนที่เพิ่งผลิตใหม่ เช่น โนวาแวกซ์ ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในไทย แม้การศึกษาระบุว่าประสิทธิภาพดีมาก แต่ที่เพิ่มล่าสุดคือโควาซินวัคซีนเชื้อตายของอินเดีย ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก เมื่อปลายเดือน ต.ค. หลังจากนั้น วันที่ 1 พ.ย. เตรียมอนุญาตเข้าไปในระบบเดินทางแบบไม่กักตัว (Test and go).