เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 11 พ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมนั้น นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาร่วมกันพิจารณาถึงผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจเกี่ยวกับการเปิดประเทศ ทั้งนี้ยังมี ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลร่วมกันเสนอญัตติด่วนด้วยเช่นกัน จำนวน 8 ญัตติ เพื่อส่งให้รัฐบาล

นายจิรายุ อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยได้รับข้อมูล นับตั้งแต่เปิดประเทศ 1-11 พ.ย. มีนักท่องเที่ยวมาน้อยมาก เนื่องจากขั้นตอนต่างๆ ของรัฐบาลไทยไม่ชัดเจน แต่ละกระทรวง ทบวง กรม ยังทำหน้าที่ไม่ประสานการทำงานกันอย่างเป็นระบบและไม่บูรณาการกันจึงเกิดปัญหาข้อผิดพลาดกลายเป็นกระแสในโซเชียลระดับโลก ทั้งจากอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และจีน หากกระทรวงการต่างประเทศเราเข้าไปดูในเว็บไซต์หรือในโลกโซเชียล จะพบว่าเขาล้อว่าถ้าจะมาเที่ยวประเทศไทยให้เตรียมที่นอน หมอน มุ้งมานอนที่สนามบิน เนื่องจากมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ อาจต้องค้างอยู่ที่นี่โดยไม่มีโอกาสเข้าไปเที่ยวในประเทศไทย

ขณะที่ นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า การที่รัฐบาลคิดเปิดประเทศ ต้องมีแผนและยุทธศาสตร์ขั้นตอนไม่ควรยุ่งยาก เมื่อยอมเสี่ยงเปิดประเทศเพื่อนำเงินเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากสร้างปัญหาทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากเข้ามาจะทำเงินได้อย่างไร ดังนั้นรัฐบาลควรแก้ไข ไม่เช่นนั้นการเปิดประเทศจะไม่ประสบความสำเร็จหรือได้ประโยชน์เลย อย่างไรก็ตาม
การระบาดของโรคโควิด ยังเป็นอันตรายเพราะอัตราการได้รับวัคซีนของประชาชนที่ครบโด๊สอยู่ที่ 50% เท่านั้น ซึ่งกลุ่มเปราะบาง 15 ล้านคน มีอีก 5 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งรีบฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มนี้โดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับกลุ่มเด็กนักเรียนด้วย

“เมื่อเราจำเป็นต้องเปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเราจำเป็นต้องคิดถึงปัญหาต่างๆ ผมจึงขอเสนอญัตติด่วนเพื่อให้สภาฯ ช่วยกันหาคำตอบและมาตรการเพื่อเสนอรัฐบาลไปดำเนินการให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน” นพ.เรวัต กล่าว

ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยกับการเปิดประเทศ แม้ว่าตลอดระยะเวลา 10 วัน จะมีปัญหาหรืออุปสรรคแต่เป็นโอกาสดีทำให้เราถอดบทเรียนจากความผิดพลาดรัฐบาลต้องปรับมาตรการโดยต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน และรัฐบาลต้องวางแผนให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนฉีดวัคซีนเชิงรุกให้มากที่สุด

จากนั้นเวลา 17.35 น. ที่ประชุมเริ่มเปิดให้สมาชิกอภิปราย 36 คน โดยให้เวลาคนละ 6 นาทีซึ่งใช้เวลา 4 ชม.ครึ่ง จากนั้นจะได้ส่งข้อเสนอแนะต่างๆ ให้รัฐบาลไปประกอบการทำงานต่อไป.