เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ต.ท.ระพีพงษ์ จิรพัฒนาลักษณ์ รองเลขาธิการ กกต. แถลงข่าวการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ประเด็น “สถานการณ์การเปิดหน่วยเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีทั่วประเทศ” ซึ่งจากการตรวจสอบสถานการณ์เกี่ยวกับการเปิดหน่วยลงคะแนน 76 จังหวัดจำนวน 34,818 หน่วย จากจำนวนเทศบาลที่มีการเลือกตั้ง 2,463 แห่งทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ได้รับรายงานจาก กกต.จังหวัดว่าการเปิดหีบเลือกตั้งทั่วประเทศดำเนินการเปิดหีบได้ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เรียบร้อยครบทุกแห่ง แม้ว่าบางแห่งจะมีพายุฝนฟ้าคะนองตั้งแต่เมื่อวาน แต่วันนี้สามารถเปิดหน่วยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าไปลงคะแนนได้ตามปกติ

นอกจากการเลือกตั้งเทศบาลในทุกจังหวัดแล้ว บางจังหวัดนอกเขตเทศบาลยังมีการเลือกตั้งซ่อม สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในบางแห่งหลายพื้นที่ โดยไม่ได้ซ้ำซ้อนกัน ส่วน อบต.อื่นๆ ที่มีการเลือกตั้งก็มีอยู่นอกเทศบาลซึ่งเป็นปกติในวันอาทิตย์ที่จะมีการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่างในบางจังหวัด ที่มีการดำเนินการพร้อมกัน

ส่วนจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ หน่วยเลือกตั้ง 34,818 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 29,936,705 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่าประมาณการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนครึ่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งเป็นเขตชุมชนขนาดใหญ่ และในการเลือกตั้งครั้ง อบต. กว่า 5,000 แห่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จำนวนใกล้เคียงกัน

ข้อควรระวังของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง 1. ห้ามผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งพยายามออกเสียงลงคะแนนหรือออกเสียงคะแนน ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี 2.ห้ามใช้บัตรอื่นแทนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ฝ่าฝืนจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี 3. ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกจากที่เลือกตั้ง ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาพ หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี 4. ห้ามทำเครื่องหมายอื่นบนบัตรเลือกตั้งนอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนน ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี 5. ห้ามใช้โทรศัพท์หรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพในคูหาเลือกตั้งโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6.ห้ามนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจ หรือปลอมรายชื่อ/เพิ่มจำนวนบัตร ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี 7. ห้ามแสดงบัตรที่ลงคะแนนแล้วให้ผู้อื่นทราบว่าเลือกใคร ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 8. ห้ามรับเงินหรือผลประโยชน์เพื่อเลือกหรืองดเลือกผู้สมัครผู้ใด ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นว่า หากแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนถูกจับ จะไม่ต้องรับโทษและไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

9. ห้ามทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดโดยเจตนา ฝ่าฝืนมีโทษ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท (ไม่ถือเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์) และ 10. ห้ามทำบัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือทำบัตรเสียให้ใช้ได้ มีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

เมื่อถามถึงการซื้อเสียง หัวละ 3,000 บาทที่จังหวัดกาฬสินธุ์ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า สำนักงานได้รับข้อมูลจากสำนักงานจังหวัดกาฬสินธุ์รายงานเบื้องต้นเข้ามา ปรากฏภาพตามสื่อที่มีการเผยแพร่เรื่องของการแจกเงิน และจากการตรวจสอบไปที่สำนักงานการเลือกตั้งกาฬสินธุ์แล้วว่าได้ส่งชุดสืบสวนไต่สวนลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นผู้ใดที่นำเงินมาแจกและผู้ใดได้รับไป และได้ให้ชุดสืบสวนและชุดหาข่าวลงพื้นที่เพื่อดำเนินการ หากมีความปรากฏก็จะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

รองเลขาธิการ กกต. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ขอเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลทั่วประเทศยกเว้นกรุงเทพมหานครออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งถือเป็นการแสดงพลังของประชาชน เพื่อกำหนดการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองเป็นหลักฐานสำคัญของประชาธิปไตยที่ยั่งยืน พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมขับเคลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ให้สุจริตและเที่ยงธรรม ชอบด้วยกฎหมาย เชิญชวนประชาชนติดตามการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งในช่องทางต่างๆ หรือสอบถามสายด่วน 1444