เมื่อวันที่ 13 พ.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร น.ส.ภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย น.ส.ฐิตาพรรณ ฉันทโชติ วิศวกรโยธาชำนาญการ กรมโยธาธิการและผังเมือง และพล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผบก.พฐก. ร่วมกันแถลงข่าวปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร จากเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม

โดย น.ส.ภัทร์กร ระบุว่า จากสถานการณ์ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ขอปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักรอย่างเป็นทางการ ให้มีผลวันที่ 15 พ.ค.นี้ เวลา 16.00 น. เพื่อขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ออกจากพื้นที่ พร้อมขอประชาสัมพันธ์ถึงประชาชนว่าในวันที่ 13-15 พ.ค.นี้ เราจะมีการขนย้ายตู้คอนเทเนอร์ และเครื่องจักรหนักออกจากพื้นที่ อาจจะไม่สะดวกในการสัญจรไปมาของพี่น้องประชาชน จึงขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง และใช้ความระมัดระวัง พร้อมขอบคุณสื่อมวลชนทุกแขนง ขอบคุณทุกแรงใจ ทุกกำลังใจที่ส่งมาให้กับเรา ทุกความเสียสละจากทุกๆ ภาคส่วน และขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสีย เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ในวันนี้เราจบสิ้นทุกภารกิจแล้ว และจะขอคืนพื้นที่ให้กับ สตง. รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการต่อไป

นายชัชชาติ เปิดเผยว่า กทม. ได้ส่งหนังสือการส่งมอบพื้นที่ไปทั้งหมด 3 ฉบับ ตามหน่วยงานต่างๆ โดยฉบับแรกได้ส่งไปที่หน่วยงานราชการ และทหาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมกำลังพล ฉบับที่ 2 ส่งถึง สตง. เจ้าของพื้นที่ และฉบับที่ 3 ส่งไปถึงคณะกรรมการที่ทางนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งขึ้น ทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง, พิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อแจ้งให้ทุกหน่วยงานทราบว่าภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ทาง กทม. จะส่งมอบพื้นที่คืนให้กับทาง สตง. ส่วนหลังจากนี้ จะมีคำสั่งอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ

ในส่วนของ กทม. แม้หน้าที่ของเราหมดเพียงเท่านี้ แต่เราก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ ถ้าหากใครต้องการความช่วยเหลือในประเด็นไหน ถ้าเรามีกำลังที่จะช่วย เราก็จะช่วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ ห้องน้ำ หรือเรื่องดูแลความสะอาดก็ตาม ส่วนเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาทำงานภายในอาคาร สตง. ประมาณได้วันละ 1,100-1,200 คน

นายชัชชาติ ยังบอกว่า “..ภารกิจในครั้งนี้เป็นภารกิจที่ใหญ่ที่เราจะต้องร่วมมือกัน และชีวิตก็จะต้องก้าวเดินต่อไป และคิดว่าเราจะต้องเจอกันอีกอย่างแน่นอน เพราะจะต้องมีปัญหาให้เราแก้กันต่อไป…”
ด้าน รศ.ทวิดา กล่าวว่า ในส่วนของการช่วยเหลือประชาชน ทั้ง 50 เขต เราได้ปิดลงทะเบียนไปแล้วเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีทั้งหมดประมาณ 40,000 กว่าเคส เป็นเรื่องของการขอค่าวัสดุซ่อมแซมบ้าน ส่วนที่เป็นค่าอื่นๆ มีเพียงหลักหน่วยเท่านั้น ซึ่งตอนนี้รวมมูลค่าตัวเลขเงินที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนอยู่ที่ 176 ล้านบาท ในส่วนของการใช้น้ำมันในพื้นที่ ยอดต่ำสุดอยู่ที่ 3,000 ลิตรต่อวัน สูงสุดอยู่ที่ 6,000 กว่าลิตรต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าน้ำมันที่ใช้ในเครื่องรถ เครนต่างๆ รวมแล้ววันหนึ่ง ค่าน้ำมันจะอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท ก็ต้องนำตัวเลขนี้มาคูณ 50 วัน (10 ล้านบาท) แต่ยังมีรถบรรทุกที่เราใช้ขนย้ายเศษซาก และยังมีน้ำมันในลักษณะอื่น เช่น ไฮดรอลิก, น้ำมันเบนซิน และเครื่องปั่นไฟ ตอนนี้ยังไม่สามารถคำนวณค่าใช้จ่ายได้ แต่คาดว่าทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะยังไม่นับรวมถึงมูลค่าความเสียหายของอุปกรณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตลอดเวลาทำงานยังมีค่าซ่อมบำรุง ที่เราต้องซ่อมทุกวัน

เราได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล และปรึกษากรมบัญชีกลางไปแล้ว ในเรื่องของการอุดหนุนค่าน้ำมัน แม้ว่าทางบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้สนับสนุนค่าน้ำมันมาตลอด แต่ในช่วงแรกก็มีบางหน่วยงานที่ต้องจัดการตัวเองทั้งในแง่ของการซ่อมบำรุง และน้ำมัน
นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาปฏิบัติงานนั้น ถ้าหากเป็นเจ้าหน้าที่ข้าราชการทุกคนจะต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว เพราะเป็นหน้าที่ แต่ในส่วนของเอกชน และอาสาสมัครกู้ภัยทุกคนที่มาช่วยทางหน่วยงานของเขาเป็นคนจ้างมา พวกเขามาช่วยด้วยใจ ทางเราจึงได้ทำเรื่องขอขยายวัตถุประสงค์การใช้เงินช่วยเหลือว่าจะสามารถช่วยในเรื่องของค่าจ้างเจ้าหน้าที่ทุกคนที่อาสามาได้หรือไม่ ถึงแม้ว่าเขาจะมาด้วยใจ แต่ 50 วันที่ต้องมาปฏิบัติงานนั้น ถือว่าเยอะมาก เขาต้องหยุดงาน และไม่ได้รับเงินเดือน ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ประสบภัย ในช่วงแรกมีการปิดถนน จนทำให้เข้าออกไม่ได้ ทำให้ประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน ก็จะทำเรื่องขอขยายวัตถุประสงค์การใช้เงินช่วยเหลือเข้าไปด้วย

ขณะที่ พล.ต.ต.วาที กล่าวว่า ในส่วนของพิสูจน์หลักฐานกลาง จะรับผิดชอบดูแลอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ในส่วนนี้เราได้พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลตั้งแต่วันแรก มียอดศพเข้ามา 89 ราย แบ่งออกเป็น 80 รายที่พบเป็นร่าง และ 9 รายที่เป็นชิ้นส่วน
โดยวันนี้เรามีการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลเรียบร้อยแล้ว 86 ราย มีทั้งคนไทย เมียนมา กัมพูชา และลาว ส่วนชิ้นส่วนที่เหลือ ยังไม่สามารถเทียบกับใครได้ เพราะจากข้อมูลก็พบว่ามีญาติศพบางส่วนที่ยังอยู่ที่ประเทศเมียนมา ยังไม่สามารถส่งเข้ามาเทียบกับศพได้ และอีกส่วนก็เป็นศพที่ยังไม่สามารถหาดีเอ็นเอได้ แต่ถือว่าเป็นส่วนน้อย เบื้องต้นมีประมาณ 3 ศพที่ยังเหลืออยู่

ขณะที่ในเรื่องของวัตถุพยาน หลังจากมีการค้นหาศพ และเก็บวัตถุพยานหลักฐานต่างๆ ในระหว่างทาง ในทุกโซนที่ กทม. กำหนด เราได้เก็บวัตถุพยานทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนของเหล็ก ชิ้นส่วนของแท่งคอนกรีต และการสุ่มเก็บทั้งหมด เราได้ทำงานร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ได้เข้าไปเก็บชิ้นส่วนทั้งหมด ซึ่งเหล็กเราได้เก็บไปทั้งหมด 366 เส้น แท่งคอนกรีต 237 แท่ง ทั้งหมดรวม 603 รายการ ที่เป็นตัวอย่างจากการเก็บตึกอาคารที่ถล่ม
ส่วนอาคารที่ไม่ได้ถล่ม เราได้เก็บแท่งคอนกรีตจากโถงทางเดิน, โถงลิฟต์, ปล่องลิฟต์, บันไดหนีไฟ และเราได้เก็บแท่งปูน 41 ก้อน และบ่อลิฟต์อีก 40 ก้อน ซึ่งจากการประชุมเมื่อช่วงเช้า หลังจากได้มีการปิดศูนย์วันที่ 15 พ.ค.นี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็จะอายัดสถานที่ต่ออีก 2 แห่ง ทั้งในส่วนของอาคาร สตง. ที่ถล่ม และกองซากปูนที่ไปกองไว้ตรงบางซื่อ โดยจะมีการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมจากทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ในระยะเวลาที่กำหนด โดยในส่วนพื้นที่ สตง. จะอายัดไว้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ และในส่วนของบริเวณบางซื่อ จะอายัดไว้จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคมนี้
พล.ต.ต.วาที ยังย้ำว่า สำหรับญาติบางส่วนที่ยังรอศพอยู่ที่สถาบันนิติเวชวิทยา ขอให้ไม่ต้องรอ เพราะหลังจากมีการพิสูจน์อัตลักษณ์เสร็จแล้ว เราจะส่งข้อมูลให้กับพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ ซึ่งจะเป็นคนประสานทางญาติไปเอง รวมไปถึง 14 ศพที่จะทยอยออก และอีก 3 ศพที่เหลือ
ด้านนางสาวฐิตาพรรณ อธิบายถึงการเก็บหลักฐานเพิ่มเติมว่า ส่วนแรกคือในส่วนของอาคาร สตง. ยังคงมีชิ้นส่วนบางชิ้นส่วนที่ยังคงสภาพจากการรื้อถอนอยู่ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณาแล้วว่าจะขอเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นและคอนกรีตคอลลิ่งเพิ่มเติมอีก โดยจะมีชิ้นส่วนเสา และบ่อลิฟต์ที่มีเหลืออยู่
ในส่วนที่เป็นกองเหล็กเส้น บริเวณศาลเยาวชนฯ จะมีกองเหล็กเส้นที่ใช้งานแล้ว และมีชิ้นส่วนตรงอาคารที่เราย้ายเก็บไปจากตัวอาคาร สตง. ไปอยู่อีก 2-3 ชิ้นส่วน จะขอพิจารณาเก็บเหล็กเส้น และคอนกรีตเพิ่มเติมจากชิ้นส่วนตรงนั้นที่เราเก็บไป ตามกรอบระยะเวลา