นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการทำไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน หรือ จี โทเคน เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการระดมทุนแบบใหม่ของรัฐบาล และการออมให้กับประชาชนรายย่อย โดยเบื้องต้นกำหนดวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท  สำหรับผลตอบแทนผู้ถือหน่วยลงทุน จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนโดยการฝากเงินทั่วไป และถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินใหม่ทั้งสิ้น และไม่ได้เป็นประเภทคริปโตเคอร์เรนซี

ทั้งนี้ ข้อดี คือประชาชนสามารถลงทุนในสัดส่วนที่น้อย โดยอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ดังนั้นจึงสามารถลงทุนได้ตั้งแต่หลักร้อยบาทเป็นต้นไป และสามารถทำให้รัฐบาลสามารถขยายฐานการลงทุนได้  จึงถือเป็นทางเลือกมากขึ้นให้กับประชาชน และเป็นการวางรากฐานนวัตกรรมสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตด้วย อีกทั้งยังเข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปซื้อขายศูนย์แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลได้

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ G-Token

  1. เป็นหน่วยลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ออกโดยรัฐบาล  
  2. คาดเริ่มเปิดขายครั้งแรก เดือน ก.ค.68 วงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท
  3. วงเงินดังกล่าว เป็นเงินกู้ของรัฐบาลเพื่อนำไปใช้ชดเชยขาดดุลงบประมาณประจำปี
  4. รัฐบาลกันวงเงินจากที่เตรียมเปิดขายสลากออมทรัพย์ มาทดลองทำเป็น G-Token
  5. มีขนาดวงเงินไม่มาก จึงไม่กระทบ Yield Curve
  6. ผลตอบแทนใกล้เคียงพันธบัตรออมทรัพย์
  7. อายุการถือครองระยะสั้น 1-3 ปี
  8. กลุ่มเป้าหมายเปิดขายให้ประชาชนทั่วไปเพื่อส่งเสริมการออม
  9. G-Token 1 หน่วย อาจเท่ากับ 1 บาท หรือ 10 บาท อยู่ระหว่างกำหนด
  10. G-Token ไม่ใช่เป็นการกู้เงินพิเศษ 5 แสนล้าน ไม่เกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ต และไม่เกี่ยวกับบิตคอยน์ คริปโตเคอร์เรนซี  
  11. G-Token ไม่ได้เป็นเงินตรา ไม่สามารถใช้ชำระซื้อสินค้าได้
  12. G-Token อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  
  13. สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรองได้เลยตั้งแต่วันแรก ไม่มี Silent Period 
  14. การซื้อขายผ่านช่องทางเดิม ธนาคารพาณิชย์ แอปพลิเคชัน และโบรกเกอร์ที่เข้าร่วม