เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 พ.ค. 68 ที่รัฐสภา น.ส.ภัสริน รามวงศ์ สส.กทม. พรรคประชาชน และนายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวกรณีคดีติวเตอร์ล่วงละเมิดทางเพศเด็กในสถาบันติวเตอร์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยขอให้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา และได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ใครทำผิด ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใคร หรืออยู่ในสถานะใด ทั้งผู้กระทำหรือผู้เสียหาย หากมีพยาน หลักฐานชัดเจน ต้องดำเนินคดีไปตามกระบวนการยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีข้อยกเว้น 2.การกล่าวอ้างในสื่อหลายสำนักว่า ผู้ถูกกระทำในคดีนี้ เป็นผู้กระทำความผิดในอีกคดีหนึ่ง ขอให้การสอบสวนเป็นไปตามกฎหมาย และหากมีการกระทำความผิดจริงก็ต้องว่าไปตามผิด แต่กรรมย่อมเป็นคนละกรรม การนำประเด็นมาเชื่อมโยงหรือกล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานทางกฎหมาย ไม่เพียงแต่สร้างความสับสนให้สังคม แต่ยังอาจกลายเป็นการทำร้ายผู้ถูกกระทำ และเบี่ยงเบนความสนใจจากข้อเท็จจริงในแต่ละคดี 3.ในฐานะ สส. ไม่มีหน้าที่ปกป้องผู้กระทำผิด แต่มีหน้าที่เรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเพิกเฉยหรือเกิดความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม
“ขอยืนยันว่าจะยังคงทำหน้าที่ตามครรลองของกฎหมาย ไม่เลือกข้างตามอารมณ์หรือกระแส แต่จะยึดถือหลักแยกแยะและยืนยันตามข้อเท็จจริง หากประชาชนท่านใดพบเจอคดีลักษณะเดียวกัน หรือกรณีอื่น ๆ ที่ถูกละเลย ยินดีที่จะช่วยทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีอคติหรือแรงจูงใจใด ๆ เพื่อให้ทุกคนในสังคมได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม” น.ส.ภัสริน กล่าว
นายปารมี กล่าวว่า การปกป้องคุ้มครองเด็ก การป้องกัน และตอบสนองต่อการแสวงหาประโยชน์ การล่วงละเมิด การละเลย การทำอันตราย และความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งได้รวมอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง กลับพบว่าไม่มีการใช้นโยบายปกป้องคุ้มครองเด็กกับหน่วยงานหรือองค์กรในสังกัดที่ต้องทำงานร่วมกับเด็กมากเท่าที่ควร เช่น โรงเรียน หรือสถานศึกษาต่าง ๆ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อสร้างความปลอดภัยและการเติบโตอย่างสมวัยให้กับเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นการเครื่องยืนยันว่า เด็ก ๆ จะไม่ถูกละเมิดสิทธิ ภาครัฐจึงต้องขยับมาตรฐานของตนเองให้ตรงกับมาตรฐานสากลในการปกป้องคุ้มครองเด็กด้วย
นายปารมี กล่าวว่า จากกรณีที่ผ่านมา ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยยังต้องมีการยกระดับมาตรการในด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กอยู่ในหลายด้าน เช่น การกำหนดและบังคับใช้นโยบายปกป้องคุ้มครองเด็กในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถือเป็นนโยบายพื้นฐานที่ต้องจัดทำการยกระดับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดูแล คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของเด็ก เช่น สถานสงเคราะห์เด็ก สถานฟื้นฟูและพัฒนาเด็กให้มีมาตรฐานในการดูแลเด็ก ทั้งด้านบุคลากร สถานที่ โภชนาการ การเรียนการสอน วิถีความเป็นอยู่ที่เอื้อต่อเด็ก การให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงสิทธิเด็ก การป้องกัน และการรับมือกับความเสี่ยง
“นอกจากนี้ จะต้องมีการผสานพลังเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชน ที่จะทำหน้าที่ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเด็ก และเป็นผู้เฝ้าระวัง ปกป้องเด็กจากอันตราย ทั้งยังเป็นกลไกตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การผลักดันให้เกิดการปกป้องคุ้มครองเด็ก จึงต้องเกิดขึ้นในทุกที่ของประเทศไทย เพื่อให้เด็กไม่ต้องเผชิญกับความรุนแรงหรือการกระทำที่เป็นอันตรายอีกต่อไป” นายปารมี กล่าว.