พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.สัญจร จ.พังงา เมื่อ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบผลการรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ แต่ขอให้สำนักงาน กสทช. กลับไปทำบทวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ทั้งด้านความมั่นคง สังคม และเศรษฐกิจ ให้ชัดเจน รวมถึงขั้นตอนและกระบวนการอนุญาต เพื่อไม่ให้เกิดการตั้งคำถามถึงเหตุผลในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต ภายใน 45 วัน เพื่อนำมาให้ กสทช.ลงมติอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับประกาศ กสทช. หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ พ.ศ. 2563 เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 2563 แต่เนื่องจากเป็นการอนุญาตแบบเหมารวมอยู่ในใบอนุญาตเดียว คือ การอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (แลนด์ดิ้ง ไลท์) สำหรับโครงข่ายดาวเทียมต่างชาติ การเพิ่มความจุดาวเทียม การให้บริการเกตเวย์ ทำให้มีข้อจำกัดในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดาวเทียมสื่อสาร ส่งผลให้เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 กสทช. จึงมีมติเห็นชอบให้นำร่างประกาศดังกล่าวไปปรับปรุง โดยให้แยกเป็น 3 ใบอนุญาต คือ 1.ใบอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (แลนด์ดิ้ง ไลท์) สำหรับโครงข่ายดาวเทียมต่างชาติ โดยมีระยะเวลา 5 ปี 2.ใบอนุญาตการเพิ่มบริการขายความจุดาวเทียม และ 3.อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้ปรับเงื่อนไขใบอนุญาตให้สอดคล้องกัน
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ. 2564 และคำนึงถึงผลกระทบกับผู้ประกอบกิจการดาวเทียมไทย ที่ได้มีการประมูลไปแล้วเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการที่มีคุณภาพดีสูงขึ้น และราคาถูกลง อีกทั้งสามารถให้บริการได้ทุกที่ ก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ ทั้งในเชิงคุณภาพ บริการ และราคา
จากนั้นในวันที่ 13 ม.ค. 2567 จึงได้นำร่างประกาศไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และอนุกรรมการดาวเทียมได้อนุมัติการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2567 นับว่าเป็นเรื่องที่ค้างคาอยู่ในบอร์ดหลายปี ขณะที่อุตสาหกรรมดาวเทียมกำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีดาวเทียมต่างชาติจากจีนเข้ามาหารือถึงการขอใบอนุญาตกับ กสทช.แล้วถึง 2 ราย แต่ก็ยังติดเงื่อนไขประกาศเดิมอยู่