อย่างที่รู้ๆกันว่า ทาง “ไมโครซอฟท์” ได้ประกาศว่า ยุติ การสนับสนุนการอัพเดท Windows 10 ในวันที่ 14 ต.ค. 68 นี้ โดยเวอร์ชันปัจจุบัน 22H2 จะเป็นเวอร์ชันสุดท้าย ส่งผลให้ Windows 10 จะไม่ได้รับการอัปเดตด้านความปลอดภัย และบริการด้านซัพพอร์ตอีกต่อไป ทั้งในส่วนของ Windows 10 Home, Pro และ Education
เนื่องจากภัยคุกคามด้านความปลอดภัยได้มีการพัฒนาวิวัฒนาการและปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ทาง “ไมโครซอฟท์” ต้องพัฒนาระบบปฏิบัติการและฮาร์ดแวร์ตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ใช้งานระบบปฎิบัติการ Windows 10 โดยที่เครื่อง พีซีรุ่นเก่าที่ไม่สามารถอัปเกรดไป Windows 11 ได้ หลังผ่านวันที่ 14 ต.ค. 68 ไปแล้ว นั้น Windows 10 ยังคงสามารถใช้งานต่อไปได้ตามปกติทุกอย่าง ทั้งตัวระบบปฏิบัติการ และโปรแกรมต่าง ๆ ที่อยู่บนเครื่อง เพียงแต่ หลังวันที่ 14 ต.ค. 68 จะไม่มีการอัปเดตซอฟต์แวร์ ฟีเจอร์ และแพตช์ความปลอดภัยอีกต่อไป
ขณะที่เครื่องที่รองรับ ก็สามารถอัปเกรดไป Windows 11 ได้ โดยสามารถตรวจสอบว่าพีซีของเสามารถอัพเกรดเป็น Windows 11 ได้หรือไม่ โดยให้ดำเนินการต่อไปนี้ โดยเลือกปุ่มเริ่ม จากนั้นไปที่การตั้งค่า > การอัปเดตและความปลอดภัย > Windows Update

สำหรับในเรื่องนี้ ทาง พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)ให้สัมภาษณ์ “เดลินิวส์” ว่า ในส่วนของผู้ที่ใช้ระบบปฎิบัติการ Windows 10 อยู่นั้น เมื่อทาง ไมโครซอฟท์ เลิกสนับสนุน แน่นอนว่า จะมีการเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย ยกตัวอย่างกรณี มัลแวร์ WannaCry ที่ระบาดไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งเพราะต้องอัปเกรดเรื่องความปลอดภัย แต่ในยุคช่วงเวลานั้น คนยังไม่นิยมอัปเกรดระบบกัน แต่พอมาในยุคปัจจุบันคนเริ่มเห็นความสำคัญในการอัปเกรดกันมากขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังวันที่ 14 วันที่ 14 ต.ค. 2568 ได้มีการประกาศยุติการสนับสนุน แล้ว ก็ทำให้ผู้ที่ใช้งาน Windows 10 มีความเสี่ยงในเรื่องซีเคียวริตี้เพิ่มมากขึ้น ในการถูกโจมตี และติดมัลแวร์เพิ่มขึ้น สำหรับทางออกเรื่องนี้ มี 2 แนวทาง คือ ตอนนี้ “ไมโครซอฟท์” ยังให้อัปเกรด จาก Windows 10 เป็น Windows 11 ฟรีอยู่ ซึ่งก็ยังไม่รู้ ว่า“ไมโครซอฟท์” จะปิดอัปเกรดฟรีเมื่อไร เพราะได้ระบุว่าในเวลาจำกัดเท่านั้น ซึ่งถ้าเครื่องรองรับก็สามารถทำการอัปเกรดได้เลย แต่ควรจะแบล็คอัพ ข้อมูลสำคัญต่างๆไว้ก่อน

แต่หากเครื่องมีสเปกที่ไม่รองรับ Windows 11 ก็อาจต้องลงทุนซื้อเครื่องใหม่ ซึ่งหากไม่ใช่เครื่องประกอบจะมาพร้อม Windows 11 หรือหากไม่ซื้อใหม่ ก็ ใช้เครื่องเก่ากับ Windows 10 ไป ซึ่งก็ยังใช้ได้ตามปกติ แต่เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุน ด้านความปลอดภัย อีกแล้ว ผู้ใช้งานก็ควรต้องตระหนักมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น เช่น ไม่ใช่ในงานสำคัญ หรือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไปดาวน์โหลดสิ่งที่มีความเสียงในการที่จะโดนโจมตี หรือ อาจจะต้องหาแอนตี้ไวรัสที่น่าเชื่อถือมาลงเพื่อลดความเสี่ยง
สำหรับในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่างๆนั้น ทาง พลอากาศตรี อมร บอกว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มสำรวจตั้งแต่ตอนนี้ว่า มีเครื่องในหน่วยงานกี่เครื่องที่ยังใช้ Windows 10 อยู่ และเกี่ยวช้องกับข้อมูลความลับที่สำคัญหรือไม่ เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ข้อมูลลับของหน่วยงาน ที่เสี่ยงจะทำให้ผิด กฎหมาย พีดีพีเอ เป็นต้น หากเกี่ยวข้องก็ต้องยุติการนำเครื่องนั้นๆไปใช้งานกับเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความลับทางราชการ เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องให้หน่วยงานราชการนั้นๆ จะต้องซื้อเครื่องใหม่ ต้องเปลี่ยนใหม่เลยทั้งประเทศ เพราะเข้าใจดีว่า บางหน่วยงานมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการจัดซื้อ เพียงแต่ฝ่ายไอทีหรือผู้รับผิดชอบต้องสำรวจเครื่องที่มีทั้งหมด และใช้งานด้านใดบ้าง ขณะเดียวกันเข้าใจว่าปัจจุบันหลายๆหน่วยงานรัฐก็มีวีธีการเช่าใช้งาน แทนการซื้อขาด ซึ่งในส่วนนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะตามสัญญาเมื่อมีการอัปเกรดอะไรใหม่ๆ ทางเอกชนคู่สัญญาก็ต้องจัดหาซอฟท์แวร์และฮาร์ทแวร์ที่เป็นรุ่นใหม่มาปรับเปลี่ยนให้กับหน่วยงานอยู่แล้ว
พลอากาศตรี อมร ยังให้คำแนะนำว่า แต่หากหน่วยงานรัฐที่มีเครื่องรองรับที่จะอัปเกรด จาก Windows 10 เป็น Windows 11 ก็ยังมีข้อควรระวัง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องต้องแบล็คอัพ ข้อมูลเท่านั้น แต่ จะต้องดูว่า เมื่อจะอัปเกรด Windows 11 แล้วซอฟท์แวร์เฉพาะ หรือระบบหลังบ้านที่หน่วยงานนั้นๆใช้อยู่นั้น รองรับ Windows 11 หรือไม่ เพื่อป้องกันกรณีที่อัปเกรดแล้ว ไม่สามารถใช้กับระบบของหน่วยงานได้ หรืออัปเกรดแล้วไม่สามารถเข้าเครื่องได้ เป็นต้น รวมถึงต้องมีการเทรนนิ่งผู้ใช้งานด้วย
“สำหรับ Windows 11 มีข้อกำหนดด้านฮาร์ดแวร์ที่เข้มงวดกว่า Windows 10 ข้อกำหนดหลัก ได้แก่ หน่วยประมวลผล (CPU) 64 บิตที่เข้ากันได้ (ความเร็ว 1 GHz หรือเร็วกว่า พร้อม 2 คอร์ขึ้นไป และอยู่ในรายการที่ได้รับอนุมัติ), RAM 4GB, พื้นที่เก็บข้อมูล 64GB, UEFI พร้อม Secure Boot และ Trusted Platform Module (TPM) เวอร์ชัน 2.0”
อย่างไรก็ตามองค์กรสามารถใช้แอปพลิเคชัน PC Health Check ของ Microsoft เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของอุปกรณ์และจำเป็นต้องจัดทำบัญชีรายการฮาร์ดแวร์เพื่อระบุอุปกรณ์ที่เข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้

“ในสัดปดาห์หน้า ทาง สกมช. จะออกคำแนะนำให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ จะได้มีแนวทางในการปฎิบัติในเรื่องนี้ ตั้งแต่การเริ่มสำรวจ วางแผนอัปเกรด แบล็กอัพข้อมูล และจัดเทรนนิ่ง เพื่อให้ไม่มีผลกระทบ เพราะเหลือระยะเวลาอีกประมาณ 5 เดือน จะได้เตรียมความพร้อมและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพราะแม้ว่าบางหน่วยงานจะเปลี่ยนมาใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ออฟฟิค แต่ก็ยังต้องใช้ ไมโครซอฟท์ออฟพิค พิมพ์งาน และเครื่องต้องใช้ยูสเซอร์เนม และพาสเวิร์ค หากเครื่องโดน มัลแวร์ เรนซัมแวร์ ก็มีโอกาสโดนแฮก ขโมยข้อมูลได้ การรักษาความปลอดภัยยังจำเป็นต้องทำในทุกจุดอยู่ หากอัปเกรดไม่ได้ต้องรู้ว่าจะมีวีธีลดความเสี่ยงอย่างไร จะมีกลไลตรวจสอบเพิ่มเติมอย่างไร” พลอากาศตรี อมร กล่าว
สุดท้ายแล้วแม้เหลือเวลาอีกหลายเดือน แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมตัว ในการวางแผนและการดำเนินการเชิงรุกเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่สำคัญ การหยุดชะงักของการทำงาน และบทลงโทษที่รุนแรงจากการไม่ปฏิบัติตาม ก.ม. พีดีพีเอ ด้วย
จิราวัฒน์ จารุพันธ์