สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ว่า การเลิกจ้างดังกล่าว มุ่งเป้าไปที่พนักงานสัญญาจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สื่อข่าว และพนักงานฝ่ายบริหารบางส่วน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมด

ในวันเดียวกัน มีการประกาศขายสำนักงานใหญ่ของวีโอเอ ในกรุงวอชิงตัน ด้านนายไมเคิล อับราโมวิตซ์ ผู้อำนวยการวีโอเอ กล่าวว่า “ไม่มีคำอธิบายอย่างชัดเจน” จากทำเนียบขาว เกี่ยวกับการไล่ออกครั้งนี้ ซึ่งเขารู้สึก “เสียใจเป็นอย่างยิ่ง” และยื่นฟ้องตามกฎหมาย เพื่อหยุดยั้งไม่ให้รัฐบาลกลางยุติการดำเนินงานของวีโอเอ

อับราโมวิตซ์อธิบายเพิ่มว่า การเลิกจ้างจะส่งผลกระทบต่อผู้สื่อข่าว ซึ่งมาจากประเทศเสรีภาพสื่อ “อยู่ในระดับจำกัด” โดยผู้สื่อข่าวกลุ่มนี้ต้องเดินทางออกจากสหรัฐ ภายในเดือน มิ.ย. นี้ เพราะสถานะของการพำนักถูกผูกไว้กับสัญญาจ้าง จึงไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าพนักงงานประจำของราชการ

ทั้งนี้ ในจดหมายซึ่งระบุวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวอ้างถึงเหตุผลของ “ความสะดวกของรัฐบาล” ขณะที่ทรัมป์วิจารณ์วีโอเอมาตลอดว่า เผยแพร่ “โฆษณาชวนเชื่อ” ที่ต่อต้านอเมริกา และฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ส่วนนางคารี เลค ที่ปรึกษาอาวุโสของสำนักงานสื่อโลกแห่งสหรัฐ (ยูเอสเอจีเอ็ม) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลวีโอเอ กล่าวว่า วีโอเอ “เต็มไปด้วยความสูญเปล่า” การฉ้อโกง และการทุจริต

ทั้งนี้ วีโอเอก่อตั้งเมื่อปี 2485 เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารช่วงแรกในฐานะสถานีวิทยุ “เพื่อต่อสู้กับโฆษณาชวนเชื่อ” ของจักรวรรดิญี่ปุ่นและพรรคนาซีเยอรมัน และวีโอเออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ตั้งแต่ปี 2519 ในยุคประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด

วีโอเอ ถือเป็นสื่อกระจายเสียงและการแพร่ภาพระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุด และเก่าแก่ที่สุด ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน เผยแพร่ข่าวสารทั้งในรูปแบบดิจิทัล โทรทัศน์ และวิทยุ ใน 48 ภาษา รวมถึงภาษาอังกฤษ และมีภาษาไทยด้วย.

เครดิตภาพ : AFP