ตอกย้ำ ความเป็นสาขาของ “พรรคเพื่อไทย (พท.)” อีกครั้ง หลัง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” สส.พะเยา ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม (กธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการพูดคุยกับ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ และ นายการุณ โหสกุล อดีต สส.กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้เข้าร่วมงานกับพรรค กธ. ว่า เป็น การรวมทีมที่รู้จักกัน ตั้งแต่วัยรุ่น เพื่อเสริมศักยภาพให้พรรคเดินหน้าในอนาคต โดย น.อ.อนุดิษฐ์ เป็นบุคคลที่มีอาวุโสทางการเมืองและมีความพร้อมใน การทำงานเชิงสถาบัน อีกทั้งยังระบุว่า ก่อนการทาบทามอดีตนักการเมือง 2 ท่านนี้ ได้มีการพาไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แล้ว พร้อมกล่าวว่า ตนจะทำอะไรต้องหารือที่มาที่ไปของแต่ละคนอยู่แล้ว วิถีชีวิตที่เคยอยู่กันมา เมื่อถึงเวลาแยกกันก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน 

คำถามคือ ทำไม ร.อ.ธรรมนัส ถึงต้องนำอดีต สส. พรรค พท. ไปพบ นายทักษิณ หรือต้องการขอไฟเขียว เพราะบุคคลทั้งสองเคยร่วมงานการเมืองพรรค พท. ก่อนจะย้ายไปทำกิจกรรมร่วมกับ “พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.)” ที่มี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์” เป็นหัวหน้าพรรค นั่นหมายความว่าทุกอย่างของการขับเคลื่อนพรรค กธ. ต้องรายงานให้อดีตนายกฯ รับรู้ทุกอย่าง ไม่มีอิสระไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง เหมือนกับเป็นพรรคสาขาให้พรรค พท. เพื่อคอยช่วย คลี่คลายวิกฤติการเมือง หากเกิดอะไรขึ้นในรัฐบาล จะได้เป็นพรรคอะไหล่ อีกทั้งยังเปิดยุทธการดูด สส. ต่าง ๆ เข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ “ร.อ.ธรรมนัส” ยังกล่าวอีกว่า จะมีการทยอยเปิดตัวรายสัปดาห์ ซึ่ง อาจจะมีบิ๊กเนม และ สส. สมัยปัจจุบันมาร่วมด้วย ส่วน สส.พลังประชารัฐ (พปชร.) ก็เป็นพี่น้องทั้งนั้น หลายคนเป็น สส. ก็เพราะตนช่วยมา ถ้าไม่มีตนก่อนหน้านี้ก็คงเหนื่อย แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกัน เพราะตนไปลุยศึกเลือกตั้งซ่อม จ.นครศรีธรรมราช มา พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้ไป “แจกกล้วย” ให้ สส. ตามที่เป็นข่าว ต้องดูว่าแต่ละคนมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร ตอนนี้เหลือเวลาปีกว่า คงไม่มีใครไปทำอย่างนั้น พร้อมปฏิเสธพรรคประชาชน (ปชน.) ว่าพรรค กธ. ไม่ได้มี “พลังดูด” เพียงแต่เป็นการดูว่าใครทำประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างไรได้บ้าง เช่น สส. ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช สะท้อนปัญหาเรื่องร้านปาล์มตกต่ำ ร้านปาล์มไม่รับซื้อ ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหานี้ทันที

อย่างไรการ เดินเกมทางการเมือง ของ ร.อ.ธรรมนัส กับการดึงนักการเมืองจากพรรคต่างๆ เข้าร่วมงานการ ก็อาจถูกวิจารณ์ได้เช่นเดียว เพราะก่อนหน้านั้น “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ เคยประกาศว่าจะไม่เอางูเห่ามาเลี้ยง บอกว่าเสียดายตังค์ แต่วันนี้พรรคร่วมรัฐบาล กลับไปกว้านซื้องูเห่าเข้าพรรค หวังเอาใจพ่อนายกฯ ด้วยการเพิ่มจำนวน สส. ในพรรค เพื่อต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี ให้กับตัวเอง ทั้งที่รู้ว่าตัวเองติดปัญหาด้านจริยธรรม จากนั้นก็ เดินเกมต่อมา คือ ต่อรองตำแหน่งในรัฐบาลเพิ่มเติม ด้วยการอ้าง สัดส่วนตัวเลขในพรรคที่เปลี่ยนไป ซึ่ง น.ส.แพทองธาร เป็นคนรุ่นใหม่ จะยอมรับให้พรรคร่วมรัฐบาลเลี้ยงงูเห่า เพื่อหวัง ผลประโยชน์ในรัฐบาล โดยไม่สนใจคุณภาพของคนที่จะนำเข้ามาร่วมงาน ผิดคำพูด ที่เคยบอกกับประชาชนไว้หรือไม่ 

ด้าน “นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค กธ. ให้สัมภาษณ์ กรณี นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ระบุให้เปิดรายชื่อ สส. ที่จะย้ายมาพรรค กธ. ว่า เราต้องให้เกียรติทุกท่าน ที่จะเข้ามาร่วมงานกับเรา เปิดกว้างรับผู้ที่มีอุดมการณ์ตรงกับเรา เป้าหมายของเรา ไม่ได้คิดจะทำเพื่อประโยชน์ของพรรค กธ. เรายึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เราไม่ได้สร้างคำพูดสวยหรู วันนี้กำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ หากมีความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เราก็พร้อมที่จะ ลงไปช่วยแก้ไข ตั้งแต่สมัย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ประธานที่ปรึกษาพรรค กธ. สมัยที่เป็น รมว. ก็เป็นเช่นนี้ พร้อมที่จะ ไปแก้ปัญหาทุกพื้นที่

เมื่อถามว่า การที่ ร.อ.ธรรมนัส ระบุว่า ได้พูดคุยกับ นายทักษิณ ชินวัตร ถึงการย้ายพรรคของ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตเลขาธิการพรรค พท. และ นายการุณ โหสกุล อดีต สส.กทม. พรรค พท. จะถูกมองว่า พรรค กธ. เป็นสาขาพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ นางนฤมล กล่าวว่า ยืนยันพรรค กธ. ไม่ใช่สาขาพรรคใดแน่นอน และเราก็จะสร้างบ้านและครอบครัวของเราขยายไปเรื่อย ๆ อย่างเข้มแข็ง

“ทั้ง 2 ท่าน มาร่วมงานกับพรรค กธ. เพราะมีอุดมการณ์ที่ตรงกัน เป็นพรรคที่ตรงใจกับเขา ในการที่จะช่วยเหลือประชาชนเหมือนกัน ไม่ใช่จะต้อง วิ่งไปหาฝ่ายเดียวกัน เท่านั้น ที่จะช่วยได้ ส่วนการพูดคุยกับท่านทักษิณ เนื่องจากทั้ง 2 ท่าน เคยสังกัดพรรค พท. มาก่อน ดังนั้น วัฒนธรรมของคนไทย ก็ต้องไปลามาไหว้ผู้บริหารพรรคและ ผู้ที่เคยดูแลมาก่อน เป็นธรรมดา” นางนฤมล กล่าว

กลายเป็น หนังคนละม้วน หลัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกเอกสารชี้แจง กรณีส่งหนังสือเรียก “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ให้มารับทราบข้อกล่าวหา เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โดย “นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล” รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชน อ้างว่ามีการส่งหมายเรียกนายพีระพันธุ์ เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา คดีแจกถุงยังชีพ ไม่เป็นไปตามระเบียบ และกฎหมาย ถือว่าเป็นการ ส่งหมายโดยมิชอบ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ก็ยอมรับว่ามีความผิดพลาดในการส่งหมายเรียกจริงนั้น

สำนักงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจงว่า ในการไต่สวนเรื่องกล่าวหา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ดังกล่าว คณะกรรมการไต่สวนได้ส่งหนังสือเชิญไปยังนายพีระพันธุ์ เพื่อให้ มารับทราบข้อกล่าวหา ตามที่อยู่ที่ปรากฏในทะเบียนราษฎรทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยมี ใบตอบรับไปรษณีย์ ส่งกลับมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ดังนั้น การดำเนิน การส่งหนังสือดังกล่าว ของคณะกรรมการไต่สวน จึงชอบด้วยกฎหมายตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 5 ประกอบระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการตรวจสอบ และไต่สวน พ.ศ. 2561 ข้อ 73 แล้ว

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 426531803_943213543843172_3192057619090660940_n-1280x1280.jpg

ก่อนหน้านั้นมีข่าว “นายพีระพันธุ์” เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ตามคำเชิญของ นายโพไซ ไซยะสอน รมว.พลังงานและบ่อแร่ ระหว่างวันที่ 14-16 พ.ค. นี้ เพื่อหารือเรื่องพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของไทยและ สปป.ลาว เพื่อให้ได้ราคาพลังงานที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ของสองประเทศ โดย ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ส่วนกรณีมีการนำเสนอว่าขอไปเยือน สปป.ลาว เอง ตรงกับช่วง ป.ป.ช. เรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า หมายเรียกของ ป.ป.ช. ไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการส่งหมายโดยไม่ชอบ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เอง ก็ยอมรับว่า มีความผิดพลาด ในการส่งหมายเรียกมายังตน จึงต้องถือว่ายังไม่มีหมายเรียก

งานนี้คงต้องรอคำชี้แจงจากนายพีระพันธ์ุว่า มีความผิดพลาด ในการสื่อสารหรือไม่ อีกทั้งยังต้องเจอกับคำร้องของ “นายสนธิญา สวัสดี” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เข้ายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ตรวจสอบการกระทำที่จะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ปี 2561 เรื่อง การถือหุ้น และ เป็นกรรมการบริษัท โดยประเด็นการถือหุ้นอยู่ในบริษัท 3 บริษัท ได้มีการขอให้ ป.ป.ช. เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 และมาตรา 235 เพื่อไต่สวนและมีความเห็น ว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (รธน.) ในมาตรา 187 ประกอบมาตรา 170 (4) (5) และ มาตรา 219 การกระทำที่ฝ่าฝืน ต่อจริยธรรมร้ายแรง ในข้อที่ 7 ข้อที่ 8 ข้อที่ 11 ข้อที่ 17 ข้อที่ 21 ประกอบข้อที่ 27 หรือไม่

ต้อง ถือเป็นวิบากกรรม ของนายพีระพันธ์ุ ซึ่งหากเคลียร์ข้อกล่าวหาไม่ได้ อาจนำมาสู่จุดเริ่มต้นในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร 

ส่วนความเคลื่อนไหวของ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งถูกจับตามอง หลังมีคดีฮั้ว สว. เกิดขึ้น ด้าน “นายมงคล สุระสัจจะ” ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) นัดพิเศษ โดยได้มีการ พิจารณาระเบียบวาระ การประชุมวุฒิสภา (สมัยวิสามัญ) ในวันพฤหัสบดีที่ 29 พ.ค. และวันศุกร์ที่ 30 พ.ค. นี้ ประกอบด้วย การตั้งคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 การพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่ ครม. เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา อนุมัติจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 และ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 การตั้งคณะ กมธ. เพื่อทำหน้าที่ ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และ พฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการการเลือกตั้ง ตุลาการศาล รธน. และอัยการสูงสุด (อสส.) รวมทั้งการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.

ก่อนหน้านั้น “น.ส.นันทนา นันทวโรภาส” สว.พันธ์ุใหม่ ออกมาให้ความเห็นว่า จะเสนอให้ สว. ที่ถูกออกหมายเรียก คดีฮั้ว สว. หยุดปฏิบัติหน้าที่ ในการลงมติในการเห็นชอบ แต่งตั้งองค์กรอิสระ เพราะข้อสงสัยที่ว่า สว. มาไม่ถูกต้อง ไม่ควรทำหน้าที่ลงมติเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เพราะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน และมีผลประโยชน์อย่างชัดเจน คงต้องรอดูว่า ที่ประชุมวุฒิสภา จะเดินหน้าเลือกบุคคลเข้ามา ทำหน้าที่ในองค์อิสระ ได้หรือไม่ 

ทีมข่าวการเมือง