สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ว่านักศึกษาแซ่ไช่คนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ทางตอนกลางของจีน ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ขณะเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี พร้อมระบุว่านักศึกษาในรุ่นเดียวกับตนใช้เอไอกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในการเขียนวิทยานิพนธ์และงานวิชาการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดเวลา
การศึกษาในปี 2567 ที่ริเริ่มโดยมายคอส ( MyCOS ) บริษัทซึ่งเชี่ยวชาญด้านข้อมูลและที่ปรึกษาการจัดการอุดมศึกษา แสดงให้เห็นว่า เกือบ 30% ของนักศึกษาในจีนใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ ( generative AI ) ในการเขียนรายงานหรือทำการบ้าน
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษากังวลว่า การใช้ความช่วยเหลือจากเอไอ ทำให้ผลงานมี “กลิ่นอายของปัญญาประดิษฐ์” อย่างชัดเจน ไม่เพียงแค่ในงานวิชาการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานวิชาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ในการป้องกันการทุจริตทางวิชาการ
ศาสตราจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษ แซ่หลิว จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ทางตะวันออกของจีน บอกเล่ากับสำนักข่าวซินหัวว่า ตนสังเกตเห็นร่องรอยของเนื้อหาที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์อย่างชัดเจน ในวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาหลายคน ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ขาดความลื่นไหลและไม่สอดคล้องกัน
การใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่มขึ้นในหมู่นักศึกษา ส่งผลให้มหาวิทยาลัยทั่วจีนออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในนครเซี่ยงไฮ้ ออกแนวปฏิบัติห้ามใช้เอไอโดยตรงในการสร้างเนื้อหาหลัก ส่วนคำขอบคุณ หรือส่วนอื่น ๆ ของวิทยานิพนธ์ โดยมีสถาบันอื่น ๆ หลายแห่งออกคำแนะนำลักษณะคล้ายกัน
ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์ แห่งมหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่ง เน้นย้ำความสำคัญของการแยกแยะขอบเขตระหว่างความช่วยเหลือจากเอไอ กับการเขียนโดยเอไอ พร้อมระบุว่า เอไอสามารถจัดระเบียบวรรณกรรมวิจัย ให้แนวคิดในการเขียน และทำงานที่ซ้ำซากหรือง่ายแทนมนุษย์ได้ แต่ไม่สามารถใช้สร้างเนื้อหาของวิทยานิพนธ์ทั้งฉบับได้ เพราะถือเป็นการทุจริตทางวิชาการ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยทั่วจีนกำลังประเมินสัดส่วนของเนื้อหาที่สร้างโดยเอไอ ในโครงการจบการศึกษา ขณะที่วารสารวิชาการหลายฉบับได้กำหนดแนวทาง การใช้เอไออย่างเฉพาะเจาะจงในการส่งบทความ
ข่งหลินเทา เจ้าหน้าที่ดูแลงานวิชาการที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทียนจิน เปิดเผยว่า นอกเหนือจากการตรวจสอบการคัดลอกผลงานตามปกติสำหรับโครงการจบการศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้เพิ่มมาตรการตรวจจับเนื้อหาที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อควบคุมการพึ่งพาเครื่องมือเหล่านี้มากเกินไป โดยกำหนดเพดานการคัดลอกผลงานไว้ที่ 30% และจำกัดการใช้เนื้อหาที่สร้างโดยเอไอไว้ไม่เกิน 40% ซึ่งนักศึกษาที่มีผลงานเกินขีดจำกัดดังกล่าว จะได้รับคำเตือนอย่างเป็นทางการ
ข่งระบุว่า การกำหนดและจำกัดเหล่านี้ สะท้อนถึงทัศนคติที่เปิดกว้างของมหาวิทยาลัย ต่อยุคปัญญาประดิษฐ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้แนะให้นักศึกษากลับมาเดินในเส้นทางของตนเอง
แม้กฎหมายเกี่ยวกับปริญญาของจีนจะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การเขียนโดยเอไอเป็นการทุจริตทางวิชาการ แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การให้ปัญญาประดิษฐ์เขียนเนื้อหาทั้งหมด ถือเป็นการละเมิดจิตวิญญาณพื้นฐานของวงการวิชาการ เพราะไม่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วมของผู้เขียน.
ข้อมูล : XINHUA
เครดิตภาพ : AFP