วัดตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาอันเงียบสงบของอำเภอนาน้อย โดยครูบาน้อยได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพุทธสถานและสถานที่ปฏิบัติธรรม ทำให้มีคนจำนวนมากเดินทางมาปฏิบัติธรรม โดดเด่นด้วยพุทธศาสนสถานสถาปัตยกรรมแบบล้านนา เช่น พระมหาธาตุเจดีย์วัดถ้ำเชตวัน พระวิหารงดงามสมส่วนด้วยงานพุทธศิลป์แบบล้านนา หอกลอง และศาลาหลวง ภายในพื้นที่ยังมีพระพุทธไสยาสน์ ความยาว 15 เมตร ห่มจีวรสีทองเหลืองอร่าม พระหยกขาว หอกลอง หอหลวงเทวดา รวมถึงถ้ำธรรมชาติ และพิพิธภัณฑ์ถ้ำเชตวันที่จัดแสดงวัตถุของเก่าต่าง ๆ เช่น เครื่องเงิน ธนบัตร ดาบ และเครื่องประดับ เครื่องเบญจรงค์ เป็นต้น

           นอกจากความงดงามของสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่ทำให้ผู้คนแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนแล้ว ยังมีพระธาตุอินทร์แขวน (จำลอง) ที่หลายคนตั้งใจที่จะมากราบสักการะ เช่นเดียวกับเทพทันใจที่หลายคนตั้งใจมาขอพร ส่วนในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ภายในถ้ำโถงมีพระพุทธรูป พระนอน พระทันใจ เจดีย์สีทอง รอยพระพุทธบาท และแผ่นศิลาจารึกที่มีอักษรล้านนาบอกเล่าเรื่องราวการสร้างวัด ใกล้กันเป็น ถ้ำครูบาน้อย เป็นสถานที่ปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมของครูบาน้อย ปัจจุบันประดิษฐานองค์พระพุทธรูป

           จากน่านไปลำปางเมืองที่ไม่เคยทิ้งเสียงกีบม้า เพราะรถม้าที่นี่ยังคงวิ่งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศคลาสสิกของเมือง รถม้าเข้าสู่ไทยในยุครัชกาลที่ 4 ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษและอินเดีย เริ่มขยายจากกรุงเทพฯ มายังหัวเมืองใหญ่ จนปี พ.ศ. 2458 รถม้าเริ่มเข้ามามีบทบาทในลำปาง เนื่องจากยังไม่มีรถยนต์ใช้งาน และยังคงเหลืออยู่คู่กับลำปางจนถึงทุกวันนี้ รถม้าคันแรกคาดว่าเป็นของ เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย เพราะในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีการตัดการขนส่งระบบราง และนั่นทำให้ย่านสบตุ๋ยเป็นย่านค้าขาย ที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก จนเกิดกาดเก๊าจาว (ตลาด 100 ปี) ในปัจจุบัน

Ratsadapisek Bridge or Khao Bridge, Lampang

           จุดเริ่มต้นของความเจริญที่ทำให้รถม้าเฟื่องฟู คือการเปิดสถานีรถไฟนครลำปาง ในวันที่ 1 เม.ย. 2459 รถม้าแท็กซี่จึงกลายเป็นพาหนะหลักจากสถานีรถไฟเข้าสู่เมือง และเติบโตเคียงข้างความรุ่งเรืองของย่านการค้าสบตุ๋ย ยุคที่การเดินรถม้าเฟื่องฟูสูงสุดคือช่วงที่อังกฤษเข้ามาทำสัมปทานค้าไม้ในลำปาง ในปี พ.ศ. 2492 มีการก่อตั้ง สมาคมล้อเลื่อนจังหวัดลำปาง โดย ขุนอุทานคดี ต่อมาปรับชื่อเป็น สมาคมรถม้าจังหวัดลำปาง ปัจจุบันมีรถม้าประมาณ 100 คัน โดย 60-70 คันให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งกลางวันและกลางคืน นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมเมืองด้วยกิจกรรมพิเศษอย่างการนั่งรถม้านำเที่ยว รถม้ามีลักษณะคล้ายรถสามล้อสามารถเปิดหลังคาได้ แต่ละคันนั่งได้ 2-3 คน โดยมีไฮไลต์คือ สารถีชุดคาวบอย พานั่งรถม้าชมเมือง ผ่านอาคารโบราณ และสถานที่
สำคัญในแบบย้อนยุค

           และหากมาตรงกับวันที่ 1 เม.ย. จะได้ร่วมงาน วันรถม้ารถไฟ ที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อรำลึกอดีตและเฉลิมฉลองความเป็นเอกลักษณ์ของเมือง เมื่อ 109 ปีก่อนช่วงปลายรัชกาลที่ 5 รถไฟสายเหนือสายแรกแล่นจอดเทียบชานชาลาสถานีรถไฟนครลําปางใน
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 หรือวันปีใหม่สยาม

           เปลี่ยนบรรยากาศไปค้นหาตำนานเมืองลับแล อุตรดิตถ์ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เขตห้ามพูดโกหก ตำนานเมืองลับแลถูกเล่าขานว่า เป็นเมืองแห่งการถือสัจวาจา เนื่องจากเคยมีชายหนุ่มคนหนึ่งพลัดหลงเข้าไปในเมืองลับแล ได้เกิดความรักใคร่จึงตกลงแต่งงานกับหญิงสาวในนั้น และใช้ชีวิตมีลูกด้วยกัน ชายหนุ่มสัญญาว่าจะอยู่ในศีลธรรม ไม่พูดเท็จ แต่วันหนึ่งเขาเผลอพูดโกหก ผิดกฎของเมืองทำให้ถูกขับไล่ออกจากเมือง และไม่มีโอกาสกลับเข้าไปอีก จึงเป็นตำนานเล่าขานมาจนทุกวันนี้

           เมืองลับแลมีธรรมชาติที่สวยงาม รายล้อมด้วยภูเขา มีเรื่องราวของวัฒนธรรม ความเป็นอยู่แบบท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นแต่ปัจจุบันอำเภอลับแล ก็ยังคงเป็นเมืองที่เงียบสงบ มีวิถีชีวิตดั้งเดิม มีอาหารถิ่นที่มีเสน่ห์น่าลิ้มลองเมื่อมาเยือน ไม่ว่าจะเป็นหมี่พันลับแล ข้าวพันผัก ทั้งยังโดดเด่นเรื่องของผลไม้ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก มีฉายานามว่า ทุเรียนเทวดาเลี้ยง หรือ ทุเรียนหลงหลินลับแล นั่นเอง รสชาติหวานมัน เนื้อครีมมีกลิ่นไม่ฉุน จึงเป็นที่ถูกใจสายทุเรียนเลิฟเวอร์

           ไปฟังเรื่องเล่าชุมชนเก่ากันต่อที่ ชุมชนบางมูลนาก พิจิตร ชุมชนติดริมแม่น้ำน่านเป็นตลาดเก่าแก่นับร้อยปีที่มีคนจีนถึง 4 กลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกันภายใต้ความศรัทธาร่วมกัน รวมถึงคนไทย บางมูลนาก เดิมเรียกว่า บางขี้นาก คนในชุมชนเล่าสืบต่อว่าเดิมทีคลองบุษบง (เหนือตลาดบางมูลนาก) มีฝูงนากน้ำจืดมาอาศัยเป็นจำนวนมากเพราะมีฝูงปลามาก พอนากมากินปลาจนอิ่มก็ถ่ายของเสียทิ้งไว้มากมายและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว จึงทำให้บริเวณชุมชนนี้ได้รับการเรียกขานว่า บางขี้นาก บางมูลนาก หรือ บางบุนนาค ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบางมูลนากชื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

           บางมูลนากเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวริมน้ำน่านที่สำคัญ และเป็นแหล่งดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาทำมาหากิน ในปี พ.ศ. 2450 รัฐบาลมีนโยบายสร้างทางรถไฟสายเหนือ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจบางมูลนากเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการคมนาคมที่เติบโตทั้งทางน้ำและทางรถไฟ ขณะที่ก็มีวิถีชีวิตสัมพันธ์กับแม่น้ำน่านในการหล่อเลี้ยงผู้คนจากการทำนาข้าวแปรรูปและส่งให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ ชุมชนบางมูลนากเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะชุมชนการค้าข้าวในภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากบริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์กอปรกับมีเส้นทางรถไฟสายเหนือผ่าน

           ตลาดบางมูลนากถูกรื้อฟื้นให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป โดยมีแนวคิดสร้างบางมูลนากให้เป็นเมืองน่าอยู่ โดยนำมรดกทางความทรงจำในอดีต วิถีชีวิต ภูมิปัญญาและเรื่องเล่าเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ และสร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม นอกจากความร่วมมือร่วมใจของชุมชนแล้ว ยังมีมูลนิธิแก้วคุ้มครองเป็นองค์กรระดับชุมชนที่สำคัญในการผลักดันโครงการฟื้นตลาดบางมูลนาก และทำให้ร้านค้าและบ้านเรือนเป็นส่วนหนึ่งของ “พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก” ซึ่งรวบรวมประวัติศาสตร์ชีวิตและชุมชนผ่านวัตถุต่าง ๆ ที่เป็นของเก่านำมาจัดแสดง

           ภายในชุมชนมีศาลเจ้าให้คนในชุมชนได้กราบไหว้บูชา เป็นศาลที่ประดิษฐานขององค์เจ้าพ่อแก้ว ภายในศาลตกแต่งตามความเชื่อของชาวจีน อีกทั้งเจ้าพ่อแก้วก็เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน ในแต่ละปีจะมีงานประเพณีที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ 2 งาน ได้แก่ งานแห่เจ้าพ่อแก้วในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี โดยอัญเชิญมาประทับที่ศาลจำลองที่สร้างขึ้นเพื่อแห่ขบวนเจ้าพ่อแก้วรอบตลาดบางมูลนาก และงานวันเกิดเจ้าพ่อแก้วในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

           หรือจะไปฟังเรื่องเล่าในราวป่ากับกิจกรรมล่องแก่ง เดินป่า ตามช้าง 3 วัน 2 คืน พิชิตน้ำตกทีลอเล-น้ำตกขั้นบันได อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ทีลอเล เป็นภาษากะเหรี่ยงแปลว่า น้ำที่ตกลงมากระทบหิน น้ำตกกลางโตรกผาสูงกว่า 80 เมตร อยู่ในพื้นที่ป่ารอยต่อของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการเดินทางผจญภัย ต้องล่องแพยาง 6 ชั่วโมง ช่วงต้นแม่น้ำแม่กลอง ฝ่าแก่งน้อยใหญ่ เช่น แก่งเจ็ดหมื่น แก่งบันได แก่งคนมอง

           ล่องแพต่ออีกเล็กน้อยจะถึง น้ำตกขั้นบันได สูง 20 เมตร มีมอสและเฟิร์นขึ้นปกคลุมไปทั่วขั้นบันไดหินสวยงาม ส่วนขากลับทดสอบกำลังกายด้วยการเดินเท้าผ่าน เขาช้างร้อง กลับหมู่บ้านเซปะหละ ระยะทาง 18 กิโลเมตร ใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมง ผ่านป่า ลำห้วย และดอกไม้ป่านานาชนิด.