วันนี้ “เดลินิวส์” ได้นำบทความ จากเพจ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่พูดถึงการการพบจุดแดงหรือรอยเลือดคล้ายเส้นเลือดฝอยแตกในดวงตาอาจสร้างความกังวลว่า เป็นอาการร้ายแรงหรือไม่ ถ้าเส้นเลือดฝอยในตาแตกอันตรายมากไหม? บทความนี้พามาดูว่าอาการแบบไหนที่ควรกังวลและรีบพบแพทย์ พร้อมวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพและแนวทางป้องกันที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพตาที่ดีในระยะยาว
- ลักษณะเส้นเลือดฝอยในตาแตก คือการมีจุดแดงบริเวณตาขาวเกิดจากเส้นเลือดฝอยบริเวณเยื่อบุตาแตก มักไม่ทำให้เจ็บปวดหรือมีผลต่อการมองเห็น บางรายอาจมีอาการระคายเคืองเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่หายได้เองโดยไม่ต้องรักษา
- สาเหตุของเส้นเลือดฝอยในตาแตก มักเกิดจากแรงดันในร่างกายที่เพิ่มขึ้นจากการไอ จาม ยกของหนัก หรือท้องผูก อุบัติเหตุที่กระทบดวงตา โทรศัพท์หล่นใส่ตาขณะเล่นโทรศัพท์ ความดันโลหิตสูง การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด รวมถึงโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวานหรือภาวะเลือดออกง่าย
- การรักษาและการดูแลตัวเอง มักไม่จำเป็นต้องรักษาเพราะหายได้เองภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ระหว่างรอหายให้ประคบเย็นบริเวณตา หลีกเลี่ยงการขยี้ตา ให้ดวงตาพักผ่อน หรือใช้น้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง
- อาการที่ควรพบแพทย์ คือเมื่อเส้นเลือดฝอยในตาแตกไม่หายภายใน 2 – 3 สัปดาห์ มีอาการปวดตา การมองเห็นผิดปกติ มีเลือดออกในจุดอื่นของดวงตา หรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย

เส้นเลือดฝอยในตาแตกอันตรายไหม? เป็นสัญญาณของโรคอะไร
โดยปกติแล้ว เส้นเลือดฝอยในตาแตกเพียงครั้งคราวมักไม่เป็นอันตราย แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการตรวจเช็ก เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติ โรคเบาหวาน หรือผลจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งล้วนส่งผลต่อหลอดเลือดในร่างกายรวมถึงที่ดวงตา
ดังนั้น หากพบว่ามีอาการนี้บ่อยครั้ง ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและป้องกันปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การป้องกันเส้นเลือดฝอยในตาแตก
การดูแลดวงตาให้มีสุขภาพดีและปลอดภัยจากบาดเจ็บเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงของเส้นเลือดฝอยในตาแตก เริ่มจากการหลีกเลี่ยงการขยี้ตา ไอหรือจามรุนแรง และการยกของหนักเป็นประจำ รวมถึงการสวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาเมื่อทำงานที่มีความเสี่ยง พร้อมทั้งหมั่นพักสายตาด้วยสูตร 20-20-20 เมื่อต้องจ้องจอนาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง และสวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้งเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสียูวี
คำแนะนำในการดูแลตัวเองเมื่อเส้นเลือดฝอยในตาแตก หากคุณมีอาการเส้นเลือดฝอยในตาแตก วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นมีดังนี้
- ให้ดวงตาได้พักผ่อนและหลีกเลี่ยงการเพ่งสายตามากเกินไป
- ใช้ผ้าเย็นประคบเบาๆ เพื่อลดอาการอักเสบหรืออาการบวมที่อาจเกิดขึ้น
- ควรหลีกเลี่ยงการขยี้ตาหรือสัมผัสดวงตาบ่อยๆ เพื่อป้องกันการระคายเคือง

อาการเส้นเลือดฝอยในตาแตกแบบไหนที่ควรพบแพทย์
หากเส้นเลือดฝอยที่แตกในตาไม่หายภายใน 2 – 3 สัปดาห์ หรือมีอาการปวดตา การมองเห็นผิดปกติ มีปัญหาสายตา มีเลือดออกในจุดอื่นของดวงตา หรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาโดยเร็ว บางรายอาจจำเป็นต้องปรึกษาจักษุแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกรณีที่มีสาเหตุจากการบาดเจ็บบริเวณช่องลูกตาหรือจอประสาทตา
สรุป
เส้นเลือดฝอยในตาแตกอาจสร้างความกังวลให้กับผู้พบเห็น แม้ในหลายกรณีจะไม่ใช่อันตรายร้ายแรง แต่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะหากพบบ่อยครั้งหรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น ตาพร่ามัว ปวดตารุนแรง หรือมีการเปลี่ยนแปลงของการมองเห็น การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือความผิดปกติของหลอดเลือด การตรวจและรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนและปัญหาสุขภาพตาที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว