ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ การตรวจสอบคดีฮั้ว สว. โดยสัปดาห์นี้จะมีความคืบหน้า หลังมี การแจ้งข้อกล่าวหา 55 คน ต้องรอดูจะมี สว. ทยอยมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกหรือไม่ ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้การออกหมายเรียก สว.ให้มาชี้แจงข้อกล่าวหาปมฮั้วเลือก สว.ปี 67 ระหว่างวันที่ 19-21 พ.ค. ที่สำนักงาน กกต.ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นั้น โดยวันที่ 19 พ.ค. จะมี สว.ที่ กกต.ได้ส่งหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา 22 คน อาทิ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1, นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี, นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา, พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย, นายอลงกต วรกี, นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ส่วนวันที่ 20 พฤษภาคม รวม 22 คน อาทิ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร, นายสมพาน พละศักดิ์ และ พ.ต.ท.สง่า ส่งมหาชัย กลุ่มที่ 3 เข้าชี้แจงวันที่ 21 พ.ค. รวม 11 คน อาทิ นายโชคชัย กิตติธเนศวร

ด้าน “นายแสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. ให้ความเห็นถึงการพิจารณาคำร้องเรื่องการฮั้วเลือก สว.ว่า  ในชั้นนี้อยู่ระหว่างในชั้นของการทำงาน การพิจารณาเรื่องร้องเรียน และคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องการเลือก สว. เราดำเนินการตามระเบียบสืบสวนและไต่สวน มี 4 ขั้นตอน แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ ซึ่งยังอยู่ในขั้นแรก หรือขั้นที่ 1 ส่วนจะเสร็จทันภายใน 1 ปีหรือไม่ ความกังวลในเรื่องของเวลา นายแสวง กล่าวว่า เรื่องเวลาตามระเบียบสืบสวนได้กำหนดไว้ว่าสำนักงานฯ  ต้องส่งให้ กกต. ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันประกาศผลการเลือก สว. ที่เราประกาศไปเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 67 ก็ต้องส่งก่อนวันที่ 10 คือ 9 ก.ค.นี้ ก็ยังมีเวลาเหลืออยู่อีก 1 เดือน 20 วัน  ซึ่งเวลาที่บอกไว้ เพื่อ เป็นมาตรการเร่งรัด ในส่วนของสำนักงาน ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบว่าขั้นตอนยังอยู่ในชั้นไหน แต่มาตรการเวลาดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมที่เป็นอิสระหรือคนใดที่กระทำโดยสุจริต

“ในกฎหมายเลือกตั้งหรือกฎหมายเลือก สว. ไม่ได้กำหนดเวลา ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลาเท่าใด เรากำหนดเวลาตัวเองว่าเราจะทำให้เสร็จภายใน 1 ปี เป็นมาตรการในการเร่งรัด จะต้องไม่กระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมที่เป็นอิสระและการกระทำของ บุคคลที่กระทำโดยสุจริต หมายความว่าเราต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนสมบูรณ์” นายแสวง กล่าว 

แต่ที่น่าจะเป็นประเด็นร้อนคือ “น.ส.นันทนา นันทวโรภาส” สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ออกมาเปิดเผยถึงการเข้าชื่อ สว.เพื่อยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ให้วินิจฉัยต่อประเด็นที่มี สว.กลุ่มหนึ่งถูกตรวจสอบกรณีฮั้ว สว. ว่าอยู่ระหว่างการยกร่างคำร้องที่จะยื่นต่อนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ไปยังศาล รธน. เบื้องต้นคาดว่าภายในวันที่ 19 พ.ค.นี้ จะดำเนินการแล้วเสร็จและ ส่งให้ สว. อิสระ พิจารณาร่วมลงชื่อ 1 ใน 10 หรือ 20 คน สำหรับสาระสำคัญของคำร้อง คือ จะขอให้ สว.ทั้ง 200 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่ง องค์กรอิสระ ทั้งกระบวนการ เช่น การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และ พฤติกรรมทางจริยธรรม การลงมติ เป็นต้น โดยมีเหตุผลคือ การหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะส่วนดังกล่าวของ สว.ทุกคนเพื่อให้เกิดความเสมอภาค และไม่ลักลั่น

“เหตุผลที่ขอให้ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะ สว.จำนวนมาก ที่ถูกตรวจสอบจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) และเชื่อว่าจะมี สว.เกินกึ่งหนึ่งที่น่าจะถูกยื่นข้อกล่าวหาและกระบวนการนี้ดำเนินการอยู่ แปลว่าที่มาของ สว. ไม่ชัดเจนว่ามา โดยถูกต้องชอบธรรม สุจริตหรือไม่ ดังนั้นหากที่มาไม่ชัดเจนและเข้าไปทำหน้าที่เห็นชอบกรรมการรองค์กรอิสระนั้นจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ทันที เพราะเมื่อ สว. ได้เห็นชอบองค์กรอิสระ ที่มีหน้าที่ ตรวจสอบที่มาของ สว. จึงมีลักษณะต่างตอบแทนกัน ไม่ใช่การตรวจสอบที่ สุจริต โปร่งใส ยุติธรรม” น.ส.นันทนา กล่าว

น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้แล้วหาก กระบวนการเห็นชอบ องค์กรอิสระเดินหน้าอาจจะมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระที่อาจ ถูกร้องว่าเป็นโมฆะ ได้ หาก สว.ในฐานะผู้ที่เห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระนั้นถูกชี้ว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ดังนั้นเมื่อ มีความไม่ชัดเจน อยากให้ สว. หยุดปฏิบัติเฉพาะส่วน ไม่ควรไปต่อ และขอให้หยุดจนกว่ากระบวนการตรวจสอบ สิ้นสงสัย เมื่อกระบวนการตรวจสอบ สว.แล้วเสร็จ การกลับเข้า สู่การเลือกกรรมการองค์กรอิสระใหม่ ตนมองว่าไม่สายเกินไป และดีกว่าการดันทุรังให้เกิดการเห็นชอบโดยกระบวนการเข้าชื่อและยื่นคำร้องดังกล่าว จะทำให้เร็วที่สุด เพื่อให้ศาล รธน.ได้พิจารณาก่อนที่วุฒิสภา จะนัดประชุม ในช่วงการประชุมสภา สมัยวิสามัญ ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ เบื้องต้นเชื่อว่าจะมี สว.ร่วมสนับสนุนเกินจำนวนที่กำหนด 

ก่อนหน้านั้น “นายมงคล สุระสัจจะ” ประธานวุฒิสภา ให้ความเห็นถึงการกระบวนการเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ องค์กรอิสระ ต้องขึ้นอยู่กับ เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม ซึ่งตามขั้นตอนคือการตั้งคณะ กมธ.เพื่อทำหน้าที่ ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต. ตุลาการศาล รธน. และ อัยการสูงสุด (อสส.) รวมทั้งการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. )

ส่วนปัญหาใน พรรคประชาชน (ปชน.) หลัง “น.ส.กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์” สส.ชลบุรี พรรค ปชน. ประกาศขอแยกทางกับพรรค เพื่อไปร่วมงานกับ พรรคกล้าธรรม (กธ.) โดยต้องการให้พรรคขับออกจากพรรคนั้น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ปชน. กล่าวถึงการดำเนินการกับ น.ส.กฤษฎิ์ ว่า ทุกอย่างเดินหน้าเต็มที่อยู่แล้ว พรรคขณะนี้อยู่ ระหว่างการร่างหนังสือ พร้อมให้หัวหน้าพรรคเซ็น ส่งไปยัง กกต. ตีความว่า หนังสือที่ น.ส.กฤษฎิ์ ยื่นต่อพรรคถือว่า เป็นหนังสือลาออก หรือไม่ ส่วนในสิทธิต่างๆ ที่เป็นโควตาของพรรคจะ ถูกตัดออกทุกกรณี เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่มีการเปรยมาจากพรรค กธ. ว่า ไม่ต้องขับออกก็สามารถทำงานได้ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ย้อนแย้ง กับเจตนารมณ์ของ รธน. โดยใน รธน.ปี 60 พยายามออกแบบ ให้เอกสิทธิ์ของ สส. ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง แต่คนร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่าจะมีกรณี สส.งูเห่า ที่มีการ ซื้อตั๋วข้ามพรรค โดยการบีบบังคับให้พรรคต้นสังกัดขับออกโดยที่ไม่ต้องยื่นหนังสือลาออกเอง ถือเป็น ช่องว่างของ รธน. เหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนไม่อยากเห็น

ด้าน “น.ส.กฤษฎิ์” ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า 1.สส.ยังคงดำรงตำแหน่งตามหน้าที่ปกติ รับเรื่องร้องเรียนและปฏิบัติหน้าที่เหมือนเดิม 2.เมื่อพรรคยังไม่ขับออก สถานะก็ยังเป็น สส.พรรค ปชน.จนกว่าพรรคจะขับออก 3.การลาออกมีข้อกฎหมายว่าต้องสังกัดพรรคใหม่ 60 วัน แต่ต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมภายใน 45 วัน ซึ่งทำให้ น.ส.กฤษฎิ์ ขาดคุณสมบัติ และสิ้นเปลืองงบประมาณ

งานนี้ทั้ง พรรค ปชน. และ น.ส.กฤษฎิ์ คงต้องใช้ทั้งข้อ รธน. และกฎหมาย ต่อสู้กันเต็มที่ ฝ่ายหนึ่งเพื่อรักษาความเชื่อมั่นของพรรค อีกฝ่ายคง ต้องการรักษาสถานะ ของตัวเองไว้ เพื่อเดินทางไปกับทางเลือกใหม่ ต้องรอดูในที่สุด ใครจะสมหวัง และเดินไปในทางที่ตนเองตั้งใจไว้

“ทีมข่าวการเมือง”