ตามที่มีข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบมหาวิทยาลัยทุกแห่งกรณีการรับนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาในทุกคณะวิชา แต่ใช้กลไกดังกล่าวในการลักลอบเข้าทำงาน ตลอดจนวางแนวทางในการควบคุมคุณภาพทางการศึกษา การป้องกันการเปิดวิทยาลัยนานาชาติหรือเปิดหลักสูตรขึ้นมาบังหน้า แต่เบื้องหลังอาจเข้าข่ายการขายวุฒิการศึกษานั้น
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวเป็นข้อห่วงใยของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่กำชับให้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ได้กวดขันและตรวจสอบโรงเรียนเอกชนที่อาจสุ่มเสี่ยงในลักษณะดังกล่าวอย่างเข้มงวด ซึ่งในส่วนของสถานศึกษาสช.แม้จะมีโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบที่อาจมีกรณีสุ่มเสี่ยงจะเปิดช่องทางรับนักศึกษาต่างชาติมาเข้าเรียนแต่ลักลอบมาทำงานนั้น สช.มีระบบการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว
เลขาธิการกช.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้สช.มีมาตรการป้องกันนักเรียนชาวต่างประเทศ ใช้ช่องทางการเรียนในโรงเรียนเอกชนนอกระบบเพื่อประกอบอาชีพอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ หลักสูตรที่นักเรียนชาวต่างชาติจะเข้าเรียน ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนที่มีสิทธิเข้าเรียน ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 4 วัน วันละไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง หรือกรณีหลักสูตรเกิน 6 เดือน ต้องเรียนสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 5 วัน วันละไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง นักเรียนประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือต้องเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษ ต้องมีหนังสือรับรองว่าไม่มีประวัติอาชญากรรม ซึ่งโรงเรียนสามารถรับนักเรียนเข้าเรียนได้ไม่เกินความจุจำนวนนักเรียนที่ได้รับอนุญาตของแต่ละโรงเรียน กรณีนักเรียนได้ ED วีช่าแล้วต้องเริ่มเรียนภายใน 30 วัน นับแต่ได้เปลี่ยนการตรวจลงตราเป็น NON-ED อีกทั้งเมื่อนักเรียนประสงค์จะเรียนต่อต้องมีแบบทดสอบและผลการเรียนหลักสูตรที่เรียนไปแล้วผ่านตามเกณฑ์การประเมิน ซึ่งที่สำคัญกรณีนักเรียนขาดเรียนเกิน 7 วัน หรือไม่มาเรียนตามหลักสูตรที่กำหนด โรงเรียนต้องแจ้งจำหน่ายนักเรียนให้สช. และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรับทราบ
“หากมีการร้องเรียน หรือได้รับการประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สช.จะออกตรวจสอบด้วย และขณะนี้เราอยู่ระหว่างพัฒนาระบบทะเบียนนักเรียนโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ซึ่งจะใช้ในการลงทะเบียนเข้าเรียนแบบ Realtime ได้ และสช.จะประสานงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลคนต่างด้าวต่อไป คาดว่าระบบจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ทั้งนี้ในส่วนของผู้สอนของแต่ละโรงเรียน จะต้องมีจำนวนที่สอดคล้องกับจำนวนผู้เรียน ต้องขออนุญาตทำงานต่อกระทรวงแรงงาน และต้องยื่นขอวีซ่า Non B จากกระทรวงการต่างประเทศ หรือ ตม.ก่อนจึงจะสามารถทำงานในโรงเรียนได้ กรณีนักเรียนโรงเรียนในระบบ ประเภทสามัญศึกษาหรือนานาชาติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการต่างประเทศหรือ ตม. ก่อน และต้องเข้าเรียนเต็มเวลาตามที่หลักสูตรกำหนด เช่นเดียวกับนักเรียนไทย” นายมณฑล กล่าว