เครื่องมือที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ ส่งเสริมทักษะด้านต่างๆ ทั้งการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ “บอร์ดเกม” เกมที่เชื่อมโยงผู้คนเสริมสร้างความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะต่างวัยหรือใจเดียวกันได้ร่วมล้อมวงเล่น เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่มากด้วยมุมมองน่าสนใจหลายมิติ

บอร์ดเกมเป็นที่รู้จักกันมานานมีหลากหลายรูปแบบทั้งเกมที่เล่นเร็วจบลงเร็ว หรือเกมที่ใช้เวลาเล่นนาน มีอุปกรณ์ กติกาซึ่งบอร์ดเกมยุคใหม่ในปัจจุบันมีชั้นเชิง มีมิติของการคิด การตัดสินใจ การวางเป้าหมาย การกำหนดกลยุทธ์การเล่นที่ชัดเจน ทั้งได้รับการพัฒนา สร้างสรรค์เกมที่เหมาะกับการเรียนรู้ยุคใหม่

ชวนค้นเรื่องน่ารู้เจาะกระดานเกม ตามดูการออกแบบเกมผลงานนักออกแบบรุ่นใหม่จากการประกวดออกแบบบอร์ดเกม Book on Board โดย นิวัฒน์ ถุงเงินศิริ นักจัดการความรู้อาวุโส TK Park กล่าวว่า ปรกติสื่อการเรียนรู้มีหลายรูปแบบ โดยที่คุ้นเคยกันจะเป็นเรื่องของเล่นเพื่อการเรียนรู้  หนังสือและเกมต่างๆซึ่งบอร์ดเกมก็เป็นส่วนหนึ่ง โดยเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน

จากที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park เราเดินหน้าส่งเสริมบอร์ดเกมเป็นสื่อการเรียนรู้ต่อเนื่อง เรามองเห็นศักยภาพของบอร์ดเกมโดยกำลังกลายเป็นสื่อทางเลือกหนึ่งที่ สามารถใช้ในการสื่อสารความรู้สร้างความเข้าใจเรื่องราวของสังคม วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งเรื่องของการนำบอร์ดเกมมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตอย่างสนุก มีส่วนร่วม   

ขณะที่อีกมุมหนึ่งต้องยอมรับว่า บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือที่สร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยส่วนนี้มีความสำคัญเพราะการที่เราจะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดี พื้นที่ปลอดภัย บรรยากาศที่ปลอดภัยจะส่งเสริมให้กล้าคิด กล้าพูดคุย ทำสิ่งต่างๆได้ฯลฯ ซึ่งบอร์ดเกมได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การรับฟังผู้อื่นและฝึกทักษะสำคัญ Critical Thinking หรือการทำงานเป็นทีมได้อย่างลงตัว

นักจัดการความรู้อาวุโส คุณนิวัฒน์ ให้มุมมองอีกว่า บอร์ดเกมไม่ใช่แค่ของเล่นอีกต่อไป แต่บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือเชิงสังคมการเรียนรู้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในโรงเรียน ในองค์กร เป็นสนามแห่งการเรียนรู้ซึ่งมีความน่าสนใจหลายมิติ โดยที่สำคัญเป็นเครื่้องมือเชิงสังคมการเรียนรู้ ได้เรียนรู้กันและกัน เข้าใจโลกจากมุมมองที่แตกต่างโดยไม่ต้องอยู่ในห้องเรียน หรืออยู่ในหนังสือ

“หลายปีที่ผ่านมา TK park ดำเนินการเรื่องบอร์ดเกมต่อเนื่อง โดยปีนี้เป็นปีที่ 4 เราเห็นถึงการเติบโต การเดินทางของบอร์ดเกม เห็นพัฒนาการร่วมกันทั้งจากการเป็นผู้จัด และนักออกแบบซึ่งมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผลงานในปีที่ผ่านมาทำให้ เห็นภาพชัดเจนขึ้น โดย Book on Board ภายใต้แนวคิด เปลี่ยนหนังสือที่ชอบเป็นบอร์ดเกมที่ใช่ โดยนักออกแบบจะเลือกหนังสือที่ชอบมาเป็นต้นเรื่อง เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบบอร์ดเกม”

จากผลงานปีที่ผ่านมาทำให้เห็นถึงพลังสร้างสรรค์ของนักออกแบบบอร์ดเกมของไทย ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่มือโปร หรือรุ่นน้องมือใหม่ สามารถตีความเรื่องราวในวรรณกรรมออกมาเป็นบอร์ดเกมได้อย่างสร้างสรรและแยบยล อีกทั้งตัวเกมที่ดีไซน์มีทั้งเรื่องราวของความสนุกและสามารถเข้าถึงได้ง่าย

นักออกแบบในปีที่ผ่านมาสามารถตีความเรื่องราวออกมาได้อย่างน่าสนใจ อย่างเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง และจากการประกวด Book on Board ในช่วง 3 ปีแรกที่มีแนวคิดหลักคือการนำหนังสือมาดัดแปลงเป็นบอร์ดเกม โดยปีที่ผ่านมาเน้นการพัฒนาสู่บอร์ดเกมที่ผลิตได้จริง ซึ่งมี 3 ผลงานชนะเลิศ อย่างเช่น บอร์เกมจากรุ่นพี่มือโปร เกม Foxtastic Hideout ศึกจ้าวจิ้งจอก

ในเกมนี้ทีมนักออกแบบนำเรื่องราวจากหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวของคุณจิ้งจอกนักวางแผนที่ตามหาเส้นทางสู่การมีชีวิตอิสระ โดยออกแบบเกมสร้างสถานการณ์ให้ผู้เล่นทำหน้าที่เป็นสัตว์นักขุด ทำหน้าที่ซ่อนตัว หลบหนีและแอบขโมยอาหารของชาวไร่ ส่วนชาวไร่ต้องไล่ล่า ซึ่งทั้งสองทีมต้องต่อสู้กันเพื่อหาหนทางเอาชนะ ทั้งนี้ เกมยังมีประเด็นเรื่องอิสระภาพ ความร่วมมือและการเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์อย่างมีชั้นเชิง ฯลฯ

ขณะที่รุ่นน้องมือใหม่ออกแบบ เกม Good Die Writer อีกหนึ่งเกมรางวัลที่ออกแบบไว้อย่างน่าสนใจ โดยนำแรงบัลดาลใจจากหนังสือที่เล่าเรื่องความตายผ่านมุมมองที่มีทั้งน่ากลัวและขำขัน ตัวเกมเชื้อเชิญให้ผู้เล่นมีโอกาสออกแบบตอนจบของชีวิตด้วยการเขียนเรื่องราวและแบ่งปันมุมมองความตายผ่านการ์ตูนสี่ช่อง กุศโลบายอยากให้พูดเรื่องนี้แบบไม่ต้องกลัว ให้มองความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยใช้เกมเป็นพื้นที่ปลอดภัยพูดเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะพูด

จากเกมทำให้ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตและยอมรับความตายอย่างสร้างสรรค์ จากที่กล่าวหากมีพื้นที่ปลอดภัยจะทำให้กล้าที่จะพูด กล้าบอกเล่าและอีกหนึ่งเกมรางวัลพิเศษ Popular Vote เกม The Flamingo Treaty เกมที่ออกแบบสวยงามนับแต่กล่อง โดยเป็นกล่องสีดำสวยงาม

นักจัดการความรู้อาวุโส คุณนิวัฒน์ อธิบายเพิ่มอีกว่า เกมนี้ออกแนววางแผนเบาๆ ใช้เวลาเล่นไม่นาน ผู้เล่นต้องสวมบทบาทเป็นนายทุนทำสนธิสัญญาฟลามิงโก โดยจะได้รับสิทธิเข้าถึงห้องแห่งความลัพธ์ของเหล่าสัตว์มากมาย ผู้เล่นจะทำหน้าที่เป็นเจ้าของบริษัทต้องซื้อความลับมาให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นผู้ชนะ ใครที่ทำได้มากที่สุดก็จะชนะเกมนี้  เกมรางวัลทั้งสามเกมไม่ใช่แค่หยิบหนังสือมาแปลงเป็นเกม แต่ตัวเกมจะทำให้ผู้เล่นได้คิด และเข้าใจ เข้าถึงสารของหนังสือผ่านการเล่นจริงซึ่งเป็นตามแนวคิดความตั้งใจของ Book on Board ที่ดำเนินการต่อเนื่องมา

“บอร์ดเกมจากนักออกแบบไทยทั้งสามเกมที่กล่าวมา ปัจจุบันผลิตออกมาให้เล่นเรียนรู้โดยสามารถเข้ามายืมเล่นในพื้นที่ หรือยืมนำกลับไปเล่นที่บ้าน รวมทั้งจะส่งต่อไปยังอุทยานการเรียนรู้ TK PARK เครือข่าย รวมถึงเปิดให้ดาว์โหลดเกมนำไปเล่นในรูปแบบ Print and Play ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างไร้พรมแดนและขณะเดียวกันการประกวดออกแบบบอร์ดเกมในปีนี้ก็กำลังเริ่มขึ้น”

ครั้งนี้ชวนเปลี่ยนผลงานหนังสือของนักเขียนไทยให้กลายเป็นบอร์ดเกมสุดสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยหนังสือ(ไทย)ที่ชอบ เป็นบอร์ดเกม(ไทย)ที่ใช่“ ใช้ผลงานของนักเขียนไทยเป็นโจทย์ เป็นแรงบัลดาลใจให้กับนักออกแบบได้พัฒนาบอร์ดเกม เพื่อส่งเสริมศักยภาพนักออกแบบและผลักดันคอนเทนต์ไทยสู่การเป็น Soft Powerขับเคลื่อนผ่านบอร์ดเกมทั้งเปิดพื้นที่ให้บอร์ดเกมเป็นสะพานเชื่อมคนเล่นกับวรรณกรรมไทยที่ไม่จำกัดแค่หนังสือคลาสสิก แต่เปิดรับหนังสือร่วมสมัยอื่นๆทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น ฯลฯ โดยสามารถหยิบมาแปลงร่างเป็นประสบการณ์ร่วมกันบนเกมกระดาน

บอร์ดเกมในปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่กิจกรรมเพื่อความบันเทิง แต่เป็นสื่อแห่งการเรียนรู้ที่จะทำให้ผู้เล่นได้พัฒนาทักษะ เป็นสื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เชื่อมผู้คนได้เข้ามาเติมประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน  

                                                                                                 พงษ์พรรณ  บุญเลิศ