กำลังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการแชร์เตือนเป็นอุทาหรณ์ในโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้ ภายหลังจากล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ค. แฟนเพจที่มักจะแชร์ความรู้ด้านการแพทย์อย่าง “Tensia” ได้ออกมาเตือนถึงผลเสียของผู้ที่ชอบซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง โดยระบุว่า “หญิงเม็กซิโก 63 ปี เจ็บคอ ซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ยาทำลายเชื้อตัวอื่น เชื้อร้าย (C. difficile) แบ่งตัวเต็มไส้ อักเสบรุนแรง ซากเยื่อบุที่ตายกองกระจัดกระจายเต็มผิวไส้” เคสจากเม็กซิโก ปี 2009 เก่าแล้วแต่ตำนาน
“เคสนี้เป็นตัวอย่างฝันร้ายสุด ของการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ไม่รู้จะเกิดกับใคร ยิ่งอายุมาก ยิ่งภูมิไม่ดี โอกาสยิ่งสูง” หญิง 63 ปี มีอาการเหมือนติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน แนวๆ เจ็บคอ ไอ น้ำมูก ซึ่งปกติก็จะหายเองได้ แต่รายนี้ไปซื้อยาปฏิชีวนะตัวแรง Amoxicillin+clavulanate 4 วันถัดมา ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย แรงขึ้นเรื่อยๆ จนทนไม่ไหวต้องมา รพ. มาถึง รพ. หมอส่ง CT ยังไม่พบอะไรผิดปกติมาก, ตรวจ test ต่างๆ ก็ปกติ จึงแอดมิตให้ยาปฏิชีวนะที่น่าจะตรงกับเชื้อที่ก่อโรคตอนนี้ ผ่านไป 24 ชม. อาการปวดแย่ลง สติเริ่มไม่ดี มีอาการของติดเชื้อในกระแสเลือด จึงรีบส่ง CT อีกครั้ง เป็นดังภาพ

พบลำไส้ใหญ่ขยายตัวรุนแรง แถมที่ผนังลำไส้เริ่มมีแก๊สแฝงเป็นตัวเป็นจุด เสมือนแบคทีเรียเข้าผนังไปแล้วสร้างแก๊ส “ส่องกล้องลำไส้ใหญ่พบซากเซลล์เยื่อบุของลำไส้ใหญ่ตายกระจายทั่วเหมือนศพในสงครามกองเต็มพื้น แผ่รวมตัวกันคล้ายเยื่ออะไรบางอย่าง (Pseudomembrane) แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะ ลำไส้ใหญ่อักเสบรุนแรง (Toxic megacolon) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย C. difficile ที่ถือโอกาสยึดครองพื้นที่หลังจากยาปฏิชีวนะทำลายคู่ปรับของมันไป (Antibiotic-associated colitis)” สุดท้ายเคสนี้ แพทย์ต้องผ่าตัดลำไส้ หลังผ่าตัดปรับเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรงที่สุดทั้งฉีด ทั้งสวน แล้วเข้า ICU เพราะเชื้อ C. difficile เข้ากระแสเลือดแล้ว ปอดล้มเหลวแล้ว รักษา 8 วันกว่าจะหายกลับบ้านได้ แต่ยังต้องนัดมาตัดต่อลำไส้ต่อ เพราะลำไส้ใหญ่อักเสบจนพังไปเยอะแล้ว
แม้ภาวะนี้จะเจอไม่บ่อย แต่ไม่รู้จะเกิดกับใคร ใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อจำเป็นจริงๆ เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าติดเชื้อและจำเป็นต้องให้เท่านั้น “อย่ากินแบบเป็นยากินแบบสามัญประจำบ้าน โดยเฉพาะคนที่เสี่ยงมากๆ เช่น อายุมากๆ มีภูมิไม่ดีเช่นเบาหวานที่คุมไม่ดี ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคนี้” แต่ถ้ามีข้อบ่งชี้ที่ต้องกิน ชั่งน้ำหนักแล้วประโยชน์มากกว่า ก็กินไปค่ะ และต้องกินให้ครบตามที่แพทย์บอกด้วย เพื่อกำจัดเชื้ออย่างเด็ดขาดป้องกันภาวะแทรกซ้อน

นอกจากนี้ ทางเพจยังเผยเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “เชื้อแบคทีเรีย Clostridioides difficile” มักมีจำนวนน้อยๆ หลบอยู่ในลำไส้เรา ปกติจะโดนแบคทีเรียเจ้าถิ่นตัวดีๆ ของเรา ทำตัวคล้ายๆ มาเฟีย คุมจำนวนเชื้อชนิดอื่นๆ แต่เมื่อใดก็ตามได้รับยาปฏิชีวนะเข้ามาทำลายเจ้าถิ่นไปเยอะ เชื้อ C. difficile ก็มีโอกาสเพิ่มจำนวนสู้ แต่มันเองก็ต้องแข่งกับหลายๆ เชื้อ อารมณ์เหมือนบอสใหญ่ตุย ลูกน้องเลยแย่งชิงบัลลังก์ “ถ้าตอนนั้นภูมิไม่ค่อยดีอีก เซลล์ paneth หลั่งสารควบคุมการเจริญมาไม่ดีพอ แล้วซวยตรงที่การแย่งชิงบัลลังก์นั้น C. difficile ชนะแล้วยึดครองลำไส้ใหญ่สำเร็จ หายนะจะมาทันที เพราะมันชอบหลั่งสารพิษชื่อ Toxin A และ Toxin B”
โดย Toxin A (TcdA) จะทำลายกาว tight junction ที่ยึดระหว่างเยื่อบุผนังเอาไว้ ทำให้สารน้ำทะลักออกมาเกิดถ่ายเหลวรุนแรง
ส่วน Toxin B (TcdB) คือระดับเพชฌฆาต ทำลายโครงกระดูกของเซลล์ จนเซลล์เยื่อบุไม่รอด ลอกออกมาตา-ยที่ผิวลำไส้เกลื่อนเลย เกลื่อนจนกระทั่งปกคลุมผิวลำไส้เป็นคล้ายๆ เยื่อบุบางๆ เรียกว่า Pseudomembranous colitis..
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Tensia