ล่าสุด “เอ็นเทค”  ได้ฉายภาพ งานวิจัย และนวัตกรรม เพื่ออนาคตพลังงานไทยที่ยั่งยืน โดย “ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล” ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หัวเรือใหญ่ของเอ็นเทคว่า ศููนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สวทช. มีความสำคัญต่อระบบพลังงานของประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะภารกิจการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน

ผู้อำนวยการเอ็นเทค สวทช. กล่าวต่อว่า ภารกิจหลักด้านการวิจัยของเอ็นเทค สวทช. ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในห้องแล็บ แต่เป็นการ “บ่มเพาะ” เทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ ที่จะมาเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่ยั่งยืนและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีผลงานวิจัยที่โดดเด่นหลายด้าน ได้แก่

ด้านเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดและการบูรณาการระบบ เน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยเทคโนโลยีการผลิต “ไฮโดรเจนชีวภาพหรือไฮโดรเจนสีเขียว” ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาและต่อยอดสู่การใช้งานจริงร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและคมนาคมขนส่งให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น แนวทางประเมิน ASEAN Energy Resilience Assessment Guideline และการประเมินโซลาร์ฟาร์มบนระบบขนส่งสาธารณะ

ด้านนวัตกรรมโอเลโอเคมีภัณฑ์และเคมีภัณฑ์สีเขียว เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ด้วยผลงานอย่าง “Eco-Pest” สารเสริมประสิทธิภาพการเกษตรจากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ที่ช่วยลดการใช้สารเคมี ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม และ “น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานชีวภาพจากปาล์มน้ำมัน” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้  ลดการนำเข้าปิโตรเลียม  และอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย

ด้านเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ สนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง ด้วยนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ “Solar Sure” แพลตฟอร์มตรวจสอบแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุ ส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ (Second-life) ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ และจัดการซากอย่างถูกวิธี ซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พิจารณากำหนดมาตรฐาน และ “SEESOLAR” โซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร ที่ลดรังสี UV-B และความร้อน แต่ยังให้การแผ่รังสีแสงสังเคราะห์ หรือแสง PAR ผ่านได้ดี ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีและอาจมีสารสำคัญสูงขึ้น อีกทั้งผลิตไฟฟ้าสำหรับควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือน และเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนพลังงานให้ภาคเกษตรกรรม

ด้านนวัตกรรมห่วงโซ่คุณค่าของแบตเตอรี่: ตอบโจทย์การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ ที่ทำให้ใช้พลังงานได้อย่างเสถียร โดย ENTEC มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแบตเตอรี่แบบครบวงจร ทั้งกระบวนการรีไซเคิล และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน “Thailand BattSwap” ภายใต้ Thailand Standard Swappable Battery Consortium เพื่อสร้างมาตรฐานกลางของแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้สำหรับ EV ขนาดเล็กทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) และได้ริเริ่มพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่มีความจุสูง อายุการใช้งานยาวนาน และปลอดภัยสูง โดยใช้วัตถุดิบในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

ดร.สุมิตรา กล่าวทิ้งท้ายว่า ENTEC จะเดินหน้าการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้งานจริง สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่ยั่งยืน โดยใช้กลยุทธ์ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เร่งสร้างงานวิจัยให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์และบริการจริง สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อ “สร้างผลกระทบ” ต่อระบบนิเวศนวัตกรรมพลังงานไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง.