เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี นายยศพลพัฒ บุนนาค ประธานมูลนิธิภูมิพลังปันน้ำใจไบโอดีเซล พร้อมคณะ เข้าหารือกับ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม โดยการขอรับน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วจากทางเรือนจำเพื่อนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล และนำไปมอบให้กับวัดต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับพิธีฌาปนกิจ

ทั้งนี้ ผลการประชุมระหว่าง กรมราชทัณฑ์ และมูลนิธิภูมิพลังปันน้ำใจไบโอดีเซล ได้ข้อสรุปว่า ทางกรมราชทัณฑ์ยินดีที่จะสนับสนุนการนำน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วจากทัณฑสถานต่างๆ ในสังกัดกรมราชทัณฑ์ให้แก่มูลนิธิภูมิพลังปันน้ำใจไบโอดีเซล เพื่อนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อใช้ในกิจกรรมฌาปนกิจ และกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชนอื่นๆ ตามโครงการ “ทัณฑสถานสีเขียว” และกรมราชทัณฑ์ยินดีที่จะสนับสนุนอาคารสถานที่ให้แก่มูลนิธิฯ เพื่อใช้ในการผลิตไบโอดีเซล ในเขตกรุงเทพมหานคร และ/หรือปริมณฑล

ขณะเดียวกัน กรมราชทัณฑ์ และมูลนิธิฯ มีความเห็นพ้องต้องกันที่จะใช้โครงการดังกล่าวเป็นศูนย์การเรียนรู้ และศูนย์การฝึกวิชาชีพให้กับผู้ต้องขัง เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้แก่ผู้ต้องขังภายหลังจากที่พ้นโทษไปแล้ว เนื่องจากแผนงานของกรมราชทัณฑ์ มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ หลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานสีเขียว การสร้างงานและพัฒนาอาชีพ และการคืนคนดีสู่สังคม ทั้งสองหน่วยงานจึงมีความเห็นพ้องต้องกันที่จะจัดทำบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือ (MOU) ในโอกาสต่อไป

ด้าน นายยศพลพัฒ บุนนาค ประธานมูลนิธิภูมิพลังปันน้ำใจไบโอดีเซล กล่าวว่า โครงการผลิตไบโอดีเซลนั้น ทางมูลนิธิภูมิพลังปันน้ำใจไบโอดีเซล ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาตลอด 20 ปี เพื่อเป็นการสานต่อการดำเนินโครงการตามพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามแนวทางที่วางไว้คือ “พ่อคิดเราทำ พ่อนำเราตาม” จึงคิดว่าโครงการไบโอดีเซล ควรที่จะขยายงานของพระองค์ท่าน จากพื้นที่ จ.ยะลา ให้เข้ามาพื้นที่ส่วนกลาง อย่างกรุงเทพมหานคร เพราะข้อมูลที่ทางกระทรวงพลังงานแจ้งทางเรามาว่า ตอนนี้ไบโอดีเซลชุมชนทั่วประเทศ เหลือแค่ 4 ที่ โดยจุดที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ จ.ยะลา

แต่ด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบ อาจจะมีปัญหาในเรื่องของการทำงาน เราก็อยากให้ขึ้นมาทางกรุงเทพฯ และมาขอความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์และกรมอู่ทหารเรือ โดยก่อนหน้านี้ เคยขอรับน้ำมันปรุงอาหารที่ไม่ใช้แล้ว จากทัณฑสถานหญิงกลางมาแล้ว ในครั้งนั้นขอรับไปจำนวน 450 กิโลกรัม ซึ่งทางผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน และน้อมนำพระราชดำริ จึงแนะนำให้เข้ามาหารือกับทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ วันนี้จึงได้เข้ามาชี้แจงในเรื่องของเนื้อหาของโครงการว่าโครงการจะเป็นอย่างไร

ประธานมูลนิธิภูมิพลังปันน้ำใจไบโอดีเซล ยังกล่าวอีกว่า ที่ จ.ยะลา เราทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ ไปสู่มหาวิทยาลัย โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ให้เราเป็นครูภูมิปัญญา มีโครงการระยะสั้น ที่จะสอนให้เด็กได้รู้จักไบโอดีเซล และรู้จักคุณค่าของน้ำมันและมูลค่าที่ได้ และร่วมกับโครงการที่เราทำกับทูบีนัมเบอร์วันที่ จ.ยะลา สร้างรายได้ให้กับนักศึกษาระหว่างเรียน จะได้ไม่เป็นภาระของพ่อแม่ โดยมีรายได้จากน้ำมันที่ทอดแล้วทิ้ง แต่เราจะไม่ทอดทิ้งใคร

สำหรับประโยชน์ของ ไบโอดีเซล นั้น ในสมัยก่อนเอามาใช้สำหรับใส่รถยนต์ แต่ด้วยบริบทของประชาชนหรือคนที่มีรถแม้จะรู้ว่าน้ำมันเป็นไบโอดีเซล ดีมีประโยชน์แต่ก็ไม่กล้าใช้ ฉะนั้นเลยทำให้ไบโอดีเซลไปได้ไม่มากนัก เราจึงเปลี่ยนมุมนำไบโอดีเซลมาใช้สำหรับการฌาปนกิจศพ หรือใช้เผาศพที่วัด และต่อไปจะให้วัดมาเข้าร่วมโครงการกับเราด้วย โดยการที่วัดที่ต้องทอดผ้าป่าน้ำมันเก่าจากชุมชนรอบวัด เพื่อจะเอามาแลกกับไบโอดีเซล ที่เราจะนำไปมอบให้

ด้านดร.ดอน สุนทรศารทูล กรรมการมูลนิธิภูมิพลังปันน้ำใจไบโอดีเซล กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เป็นการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม ขับเคลื่อนหลายมิติ วัตถุประสงค์หลักคือ เป็นการลดการปล่อยน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วลงสู่สิ่งแวดล้อม แล้วนำน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วมาทำเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลต่อไป ซึ่งนอกจากการบริหารจัดการแล้ว ยังมีมิติเรื่องของพลังงานทดแทนและไบโอดีเซล ซึ่งเป็นพลังงานสีเขียวและเป็นพลังงานหมุนเวียน การเผาไหม้ไบโอดีเซล 1 ลิตรจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 2 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นในการฌาปนกิจ 1 ครั้ง ใช้น้ำมันประมาณ 50-60 ลิตร แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้ไบโอดีเซลทดแทน ในส่วนนี้จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณมาก เพราะทุกวันนี้เรายังใช้ปิโตรเลียมดีเซลในการฌาปนกิจอยู่

พล.ต.หญิง กรอร คัมภีรญาณ ที่ปรึกษามูลนิธิภูมิพลังปันน้ำใจไบโอดีเซล กล่าวว่า อยากให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการไบโอดีเซล เพราะว่าการทิ้งสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ก่อให้เกิดโทษเป็นอย่างไรบ้าง เราต้องช่วยกันรณรงค์ ที่สำคัญคือเยาวชน เราจึงต้องมาตั้งศูนย์การเรียนรู้ที่ส่วนกลางเพื่อให้เขาทราบเกี่ยวกับโครงการไบโอดีเซล ว่า น้ำมันพืชที่ใช้แล้วในครัวเรือน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้อีกทาง

สำหรับ มูลนิธิภูมิพลังปันน้ำใจไบโอดีเซล จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการต่อยอดวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2552 โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วจากชุมชนมาผลิตเป็นไบโอดีเซล เพื่อเป็นการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสีเขียว และเป็นการลดการสร้างมลพิษที่เกิดจากการทิ้งน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว ลงสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย.