ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ สภาอุตสาหกรรม จ.สมุทรสงคราม ร่วมกับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตไบโอชาร์จากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยนายวีระนิจ เหลืองรัตนเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สมุทรสงครามเปิดงานโดยได้รับการสนับสนุนจาก น.ส.ลัดดาวัลย์ สันติภิญโญเลิศ อุตสาหกรรม จ.สมุทรสงคราม มีเกษตรกรเข้ารับการอบรมจำนวน 71 คน

จากนั้น ดร.บัวหลวง ฝ้ายเยื่อ วิทยากรจากสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาให้ความรู้เรื่องการผลิตไบโอชาร์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวสรุปว่า “ไบโอชาร์” คือ ถ่านที่ได้จากการนำวัสดุอินทรีย์หรือชีวมวล (Biomass) หรือของเหลือทิ้งทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งทางอุตสาหกรรมการเกษตรเช่นกิ่งไม้ ไม้ไผ่ ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง กะลามะพร้าว ทางมะพร้าว ทะลายปาล์ม และมูลสัตว์ ฯลฯไปสลายด้วยความร้อนภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจนอยู่อย่างจำกัด (อับอากาศ) เรียกว่า ไพโรไลซิส (Pyrolysis) ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นคาร์บอนคงตัวคือ “ไบโอชาร์” หรือ “ถ่านชีวภาพ”

ส่วนเตาผลิตไบโอชาร์ที่วิทยากรนำมาสาธิตมีมาตรฐานนานาชาติ (IBI) มีลักษณะเด่นคือใช้งานง่าย ไม่มีควัน ได้ไบโอชาร์คุณภาพสูง ราคาไม่แพง สามารถทำได้ในครัวเรือน โดยใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร นำมาเจาะรูที่ก้น ทำฝาปิดมีปล่อง หรือจะใช้ถังเหล็กเคลือบสังกะสีเพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้นก็ได้ นอกจากนี้ไบโอชาร์ยังเป็นคาร์บอนคงตัวที่ช่วยปรับปรุงดินได้อย่างมีคุณภาพและยาวนานได้ด้วย

นายวีระนิจ เหลืองรัตนเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ชาวสมุทรสงครามส่วนใหญ่ทำการเกษตรเช่น ทำสวนลิ้นจี่ สวนส้มโอ สวนมะพร้าว และพืชผลการเกษตรอื่นๆ จึงมีการตัดแต่งกิ่งไม้ทำให้เกิดการหมักหมมกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงศัตรูพืช การจัดอบรมให้ความรู้ครั้งนี้จึงมุ่งหวังให้เกษตรกรชาวสวนมีแนวทางบริหารจัดการวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเพิ่มพื้นที่การใช้งาน และจัดการวัสดุเหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากที่ผ่านมาอาจจะมีความเข้าใจเดิมๆ เช่น บางรายเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่ไม่สามารถนำไปเผาเป็นถ่านก้อนได้โดยใช้วิธีเผากลางแจ้งทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่น PM 2.5 โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประกอบกับปัจจุบันมีการออกกฎหมายห้ามเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรแล้ว ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องไบโอชาร์ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และในอนาคตอาจจะเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

น.ส.ลัดดาวัลย์ สันติภิญโญเลิศ อุตสาหกรรม จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้และมีการให้ความรู้ สาธิตการทำไบโอชาร์จากวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นจากมะพร้าว หรือเศษวัสดุธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่จะช่วยลดมลพิษบ้านเราได้โดยไม่ก่อให้เกิด PM 2.5 และยังสร้างการตระหนักถึงการลดมลพิษจากการเผาเศษวัสดุต่างๆซึ่งมีผลกระทบให้เพิ่มก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อนขึ้น ดังนั้นหากชุมชนหรือท้องถิ่นนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้นอกจากจะช่วยกันลดปัญหา PM 2.5 ได้แล้ว ยังอาจเป็นการสร้างเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับชุมชนและครัวเรือนด้วย