สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ว่านายเอดี วีโบโว ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงานชีวภาพ ประจำสำนักงานพลังงานหมุนเวียนใหม่และการอนุรักษ์พลังงาน สังกัดกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ของอินโดนีเซีย กล่าวว่าความจุการกักเก็บในชั้นน้ำเกลือใต้พิภพ (saline aquifer) หรืออ่างเก็บน้ำของอินโดนีเซีย สูงถึง 572.77 กิกะตัน
นอกจากนี้ ความจุการกักเก็บในแหล่งน้ำมันและก๊าซที่หมดอายุแล้ว อยู่ที่ราว 4.85 กิกะตัน ทำให้อินโดนีเซียมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค สำหรับบริการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการลดคาร์บอนในภาคการผลิตไฟฟ้า การขนส่ง และอุตสาหกรรม โดยสอดคล้องกับแผนงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
ความพยายามของอินโดนีเซียในการบรรลุเป้าหมายนั้น ครอบคลุมการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งพลังงานหมุนเวียน การดำเนินการโครงการประสิทธิภาพพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านสู่เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ เช่น พลังงานชีวมวลจากขยะที่ไม่ใช่จากอาหารและเชื้อเพลิงจากขยะ
ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนใหม่มากกว่า 3,680 กิกะวัตต์ แต่จนถึงขณะนี้ มีการนำมาใช้ประโยชน์เพียง 0.3% เท่านั้น สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการลงทุน และการพัฒนาในภาคพลังงานหมุนเวียน รัฐบาลกำลังเปิดทางให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนใหม่ในวงกว้าง โดยยังคงยึดหลักเศรษฐกิจและความยั่งยืนเป็นสำคัญ.
ข้อมูล : XINHUA
เครดิตภาพ : AFP