ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ และเพราะความยิ่งใหญ่ของเทศกาลประจำปีที่มีอยู่ ชื่อของยโสธรจึงมักถูกนึกถึงเป็นอันดับแรก หากใครคิดจะไปชมงานเทศกาลบั้งไฟประจำปี ที่จัดขึ้นเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลเพาะปลูกที่กำลังจะตามมา บั้งไฟขนาดใหญ่ที่ประดับประดาอย่างสวยงามจะถูกนำแห่แหนไปตามเส้นทางรอบเมือง ก่อนที่จะมาจอดพักรอเพื่อจุดขึ้นสู่ท้องฟ้าในวันถัดมา ณสวนสาธารณะพญาแถน เทศบาลเมืองยโสธร

​งานบุญบั้งไฟเป็นหนึ่งในประเพณีตามฮีต 12 คอง 14 ของชาวไทยภาคอีสาน มักทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนก่อนจะเข้าสู่การทำนา เป็นการบูชาพญาแถน ตามตำนานที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน และเพราะเหตุนั้นจึงทำให้ อุทยานสวรรค์วิมานพญาแถน ถูกสร้างขึ้นติดกับอ่างเก็บน้ำลำทวน โดยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงนิเวศ รวมถึงแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ภายในประกอบด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับสังคีตศาลา เวทีการแสดงกลางแจ้ง สนามเด็กเล่น สวนสุขภาพพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก อาคารจำลองรูปร่างพญาคันคาก หรือคางคกตัวใหญ่สูง 19 เมตร ภายในประกอบด้วยพื้นที่จัดนิทรรศการ 5 ชั้น มีทั้งประวัติความเป็นมาของสถานที่วงจรชีวิตของคางคก รวมไปถึงเรื่องราวของบั้งไฟและเมืองยโสธร ส่วน พิพิธภัณฑ์พญานาค อาคารรูปทรงพญานาคสูง 29 เมตร มีนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของตำนานพญานาคและงูใหญ่ทั่วโลก ทั้งสองพิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการ 10.00-16.00 น. วันธรรมดา และเปิดเพิ่มในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 09.00-17.00 น. สอบถามโทร. 0-4571-4212

​จากนั้นไป วัดมหาธาตุ วัดคู่บ้านคู่เมืองของยโสธรมาตั้งแต่แรกสร้างเมือง ภายในเป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธบุษยรัตน์ หรือ พระแก้วหยดน้ำค้าง พระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยเชียงแสน ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของยโสธรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนแรก ด้านหน้าพระอุโบสถมี พระธาตุยโสธร หรือ พระธาตุอานนท์ พระธาตุรุ่นเก่าที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมส่วนยอดคล้ายพระธาตุพนมภายในพระธาตุบรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์ เดือนมีนาคมของทุกปีจะมีการจัดงานสมโภชพระธาตุอานนท์ นอกจากนี้ยังมี หอไตรกลางน้ำ เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานที่เก็บรักษาตู้พระธรรม หีบพระธรรม เสลี่ยงชั้นวางคัมภีร์ซึ่งนำมาจากเวียงจันทน์

​ก่อนจะไปสักการะ พระธาตุก่องข้าวน้อย เจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุก่องข้าวน้อย รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว ซึ่งมาพร้อมกับตำนานก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ที่ได้สติสำนึกผิดที่กระทำรุนแรงต่อมารดาจนถึงแก่ความตาย จึงได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำมาตุฆาต  บริเวณด้านหลังพระธาตุมีพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก ในช่วงเดือนห้าจะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง เพราะเชื่อกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ฝนจะแล้งในปีนั้น

​ส่วน วัดหอก่อง ตั้งชื่อตามกระติ๊บข้าวหรือก่องข้าวเหนียว เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดหอก่องศรีทอง” วัดสำคัญของจังหวัดยโสธรอีกแห่ง เพราะในช่วงประเพณีบุญเดือนสาม วันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมี ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ชาวบ้านจะนำมาลัยข้าวตอกที่ทำด้วยความศรัทธาอย่างสวยงามมาถวายพระ แล้วนำไปเก็บไว้ที่ศาลาการเปรียญชั้น 2 บางส่วนนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ได้ตลอดทั้งปี โดยจะจัดแสดงไว้จนครบ 1 ปีเมื่อถึงฤดูกาลใหม่ชุมชนก็จะปลดพวงมาลัยลงและนำมาเป็นอาหารให้กับสัตว์น้ำ และจะนำมาลัยชุดใหม่มาแทนที่ นอกจากนี้ยังมีการจุดบูชามาลัยข้าวตอกเพื่อถวายเป็นพระพุทธบูชา และจุดจำหน่ายมาลัยข้าวตอกจิ๋วสำหรับเป็นของที่ระลึก รวมถึงผลิตภัณฑ์จักสาน ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือ และผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์ ของชุมชนบ้านฟ้าหยาด

​นอกจากมาลัยข้าวตอกแล้ว อีกหนึ่งภูมิปัญญาที่สืบทอดมาของชาวยโสธรก็คือ หมอนขิด ห่างจากตัวเมืองยโสธรประมาณ 20 กิโลเมตร ที่ หมู่บ้านทำหมอนขิดบ้านศรีฐาน หลังฤดูทำนาชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนมีอาชีพทอผ้าและทำหมอนขิด แรกเริ่มเป็นการทำหมอนหนุนใช้ในครัวเรือนและเพื่อถวายพระ ตลอดจนใช้ในงานประเพณีต่างๆ และใช้ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของแทนการซื้อขาย รวมทั้งเป็นของฝากสำหรับญาติพี่น้องต่างถิ่น ต่อมาจึงมีการผลิตเพื่อจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่าง เช่น ที่นอนพับ ที่นอนระนาด หมอนกระดูก หมอนรองคอ หมอนผลไม้ เบาะรองนั่ง ฯลฯ

​เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วไปสัมผัสบรรยากาศย่านเมืองเก่าที่ปรากฏนามอยู่ในประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองอย่าง คุ้มบ้านสิงห์ท่า ที่นี่มีตึกแถวโบราณที่รูปทรงและลวดลายงดงามได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ด้วยเป็นอดีตย่านการค้าเก่าที่เคยรุ่งเรืองเมื่อครั้งฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพล ในยุคนั้นผู้มีฐานะดีมักนำช่างฝีมือจากเวียดนามจำนวนมากเข้ามาสร้างบ้านเรือน ทำให้บ้านเรือนมีรูปแบบศิลปกรรมแบบจีนผสมยุโรปอย่างที่เห็น ปัจจุบันยังคงเหลือให้เห็นสองข้างทางของถนนศรีสุนทร นครทุม อุทัยรามฤทธิ์ และวิทยธำรง ถนนรอบบริเวณย่านสิงห์ท่าเป็นทางลัดเลาะเชื่อมต่อถึงกันระหว่างชุมชน ตลาด โรงเรียน รวมถึงวัด ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธ ทั้งยังมีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีน เป็นศาลหลักเมืองที่มีเสาหลักเมือง 3 เสาแห่งเดียวในประเทศไทย ไม่เพียงเท่านั้นย่านนี้ยังเป็นแหล่งทำปลาส้มและลอดช่องยโสธร ของฝากชื่อดังของจังหวัดยโสธรด้วย

​ตบท้ายด้วย วัดอัครเทวดามิคาแอล หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่เป็นโบสถ์ไม้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สถานที่ท่องเที่ยวสุดอันซีนของยโสธร สร้างในปี พ.ศ. 2490 ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทย กว้าง 16 เมตร ยาว 57 เมตร ใช้แผ่นไม้มุงหลังคา 80,000 แผ่น มีเสารองรับ 360 ต้น เสาในแถวกลางมี 260 ต้น สูงจากพื้นดินกว่า 10 เมตร พื้นแผ่นกระดานเป็นไม้แดงและไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ โดยชาวบ้านร่วมใจตัดไม้ที่อยู่ละแวกบ้าน ได้แก่ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้สักไม้จิก ภายหลังมีการปรับปรุงช่องแสงประดับกระจกสีสวยงามแปลกตา สำหรับม้านั่งไม้จุคนได้กว่าพันคน นอกจากโบสถ์ไม้หลังใหญ่แล้ว ยังมีเรือนไทยข้างโบสถ์ที่มีความสวยงดงามในแบบประติมากรรมไทย

​เยือนยโสธรสัมผัสวิถีชุมชนที่ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม พร้อมเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และฟังเรื่องเล่าการอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์ให้คงอยู่ จากคนยโสธร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0-4524-3770, 0-4525-0714 หรือติดตามที่ Facebook Fanpage : ททท.สำนักงานอุบลราชธานี Tat UbonRatchathani

เที่ยวทั่วเมืองยโสธร

เดินทางท่องเที่ยวรอบเมืองยโสธร พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน และพบปะกับชาวยโสธรแบบใกล้ชิด

​ แวะวัดมหาธาตุ สักการะพระธาตุยโสธร หรือพระธาตุอานนท์ นมัสการพระบุษยรัตน์  ชมหอไตรกลางน้ำ​ / นมัสการหลวงปู่พวง วัดศรีธรรมาราม / เดินเล่นชุมชนเก่าบ้านสิงห์ท่า อดีตย่านการค้าที่เต็มไปด้วยอาคารเก่ารูปทรงและลวดลายงดงาม / บ้านทำบั้งไฟ เรียนรู้การเอ้บั้งไฟกับปราชญ์ท้องถิ่น/ร่วมทำมาลัยข้าวตอก ณ วัดหอก่อง / แวะชมกรรมวิธีการผลิตปลาส้มที่ “กลุ่มผลิตปลาส้มยโสธร“ / เยือนวิมานพญาแถน พร้อมรับฟังตำนานบุญบั้งไฟ / แวะชมแหล่งผลิตหมอนขวานผ้าขิดแห่งใหญ่ที่ “ชุมชนบ้านศรีฐาน” / ออกไปชมพระธาตุก่องข้าวน้อย กับตำนานก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ / ชมงานหัตถกรรมการแกะสลักเกวียนน้อย และการสานกระติ๊บข้าวเหนียวบ้านนาสะไมย

​เมืองยโสธร มีรถรางนำเที่ยวบริการฟรี ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ โดยจะแวะจอด 5 สถานี ได้แก่ สถานีวิมานพญาแถน สถานีวัดมหาธาตุ สถานีบ้านสิงห์ท่า สถานีบุ่งน้อยบุ่งใหญ่ และสถานีวัดศรีธรรมาราม นักท่องเที่ยวสามารถเลือกขึ้นได้ 3 เที่ยว คือ เวลา 09.30-10.50 น. เวลา 14.00-15.20 น. และ 16.00-17.20 น. แต่ละรอบจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที