กลุ่มผู้ขับแท็กซี่รวมตัวเรียกร้องให้ระงับการบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นในพื้นที่สนามบิน เพราะมองว่าแย่งลูกค้าในขณะที่มุมของผู้ใช้บริการยินดีเพราะสะดวก ทั้งบริการเรียกรถ และบริการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ใช่ว่าทุกภาคส่วนจะได้รับความพึงพอใจหรือเป็นธรรมในการบริการ อย่างที่ทราบร้านอาหารที่เข้าร่วมในแพลตฟอร์มต้องขายอาหารแพงขึ้น หรือลดปริมาณอาหารให้น้อยลง ผลักภาระมาให้คนซื้ออย่างช่วยไม่ได้ หรือคนขับรถส่งอาหาร ไม่ได้งานเพราะทำคะแนนไม่ถึงเป้าเป็นต้น

** น้องเคยมาเท่าไหร่” และ “ตามสั่ง-ตามส่ง”
กลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัวนวัตกรรมแพลตฟอร์ม “น้องเคยมาเท่าไหร่” และ “ตามสั่ง-ตามส่ง” ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (Social and Sollidarty Economy) เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางเศรษฐกิจ (Economic Well-being) ตั้งเป้าสนับสนุนให้อาชีพกลุ่มวินมอเตอร์โชค์รับจ้าง และร้านค้าอาหารรายย่อยในชุมชน เข้าถึงระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มรายได้ และมีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

“สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในไทย ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องกักตัวอยู่ในบ้านเพื่อลดความเสียงต่อการติดโรค แพลตฟอร์มออนไลน์ให้บริการส่งอาหารและการเดินทางได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้วินมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ได้เข้าร่วมแพลตฟอร์มต้องประสบปัญหารายได้ลดลง ไม่พอเลี้ยงชีพ ผลสำรวจผู้ขับขี่รถจักรยานรับจ้างสาธารณะในกรุงเทพฯ 50 เขต จำนวน 400 คน ปี 2566 พบว่า วินฯ 89.3% ไม่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันเรียกรถ สาเหตุจากการใช้งานที่ไม่สะดวก ขั้นตอนการสมัครแพลตฟอร์มมีความซับซ้อน และถูกเรียกเก็บค่าใช้บริการ ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น 46.5% ไม่มีเงินออม 11% เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ” ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภภา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. ให้ข้อมูลอีกด้านของผู้ขับวินจยย.ที่ลงทะเบียนถูกต้องอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ซึ่งก่อนหน้านั้นเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี2563 ในเขตพื้นที่ซ.ลาดพร้าว 101 ในช่วงเริ่มต้น เปิดบริการ “ตามสั่ง-ตามส่ง”ที่ให้บริการรับส่งอาหารในพื้นที่ของวิน และล่าสุดเพิ่มบริการ “น้องเคยมาเท่าไหร่”เป็นบริการรับส่งคนผ่านแอปฯ
“สสส.มุ่งใช้เทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนทั่วไป ดังนั้นการใช้แอปพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงการแสวงหาแหล่งรายได้ขึ้นมาเพื่อทำให้เศรษฐกิจตัวเองดีขึ้น ทั้งสองส่วนนี้เมื่อทำให้คนกลุ่มนี้มีช่องทางในการทำมากินเพิ่มเติม จะทำให้ฐานทางเศรษฐกิจครัวเรือนดีขึ้นส่งผลโดยตรงเรื่องสุขภาพจิต เพราะการหารายได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวต่าง เพราะความเครียดนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ เช่นการกินเหล้า พนัน ติดยาเสพติดต่าง เมื่อสุขภาพทางการเงินดีทำให้สุขภาพทางกายดีขึ้นด้วย”

**ผู้ใช้งานไม่ต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น
นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเซีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า นวัตกรรมแพลตฟอร์ม “ตามสั่ง-ตามส่ง” และ “น้องเคยมาเท่าไหร่” พัฒนาจากการออกแบบร่วมกับผู้ใช้งานจริงคือ กลุ่มวินฯ ร้านค้า และร้านอาหารในชุมชน สามารถเลือกว่าจะใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน หรือใช้งานผ่านระบบ Line Chat Bot โดยวินฯ ที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มน้องเคยมาเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่น อัลกอริทึมจับคู่งานตามเวลาและลำดับคิว เพื่อให้วินฯ ที่อยู่ใกล้ที่สุดและอยู่ในคิวแรกได้พิจารณารับงานก่อน ไม่มีระบบให้คะแนนเหมือนแอปฯที่ใช้กันอยู่

สำหรับร้านค้าและร้านอาหารที่เข้าร่วมใช้งานแพลตฟอร์มตามสั่ง-ตามส่งลดภาระต้นทุนการขาย เพราะไม่ต้องเสียค่าตอบแทนที่ผู้ขายได้รับจากการขายสินค้า (Commission) ดังที่แพลตฟอร์มทั่วไปเรียกเก็บ แต่จะใช้ระบบ ร่วมจ่าย Co-Contribution คิดตัดสินใจร่วมกันว่า ร้านอาหาร ไรเดอร์ และผู้บริโภค ซึ่งได้ประโยชน์ร่วมกัน จะแบ่งสัดส่วนจ่ายตามต้นทุนละ 5-6 บาทต่อครั้ง ซึ่งน้อยกว่าที่แพลตฟอร์มทั่วไปเรียกเก็บจากร้านอาหาร 35% ของยอดขาย โดยเมื่อมีผู้สั่งอาหาร ระบบจะส่งคำสั่งซื้อไปยังวินฯ หรือไรเดอร์ในชุมชนที่อยู่ใกล้ร้านที่สุด ต่างจากแพลตฟอร์มทั่วไปที่ส่งงานไปยังไรเดอร์ที่มีคะแนนสูงสุดซึ่งบางครั้งอยู่ไกลจากร้าน

**แพลตฟอร์มเหมาะกับพื้นที่ตจว.
นายอรรคณัฐ กล่าวเสริมว่าเรื่องเศรษฐกิจสมานฉันท์เกิดขึ้นภายใต้การตัดสินใจร่วมกัน ถ้าเราเปรียบเทียบแพลตฟอร์มเอกชนมุ่งแสวงกำไร แต่เราปรับวิธีคิดจากที่มีแพลตฟอร์มเครื่องมือหากำไรไปเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสที่มากขึ้น ซึ่งแพลตฟอร์มไม่ได้ทำกำไร แต่ตัวแพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือคนที่ทำธุรกิจอยู่แล้วให้มีโอกาสมาก ร้านอาหารที่มีธุรกิจอยู่แล้ว พี่วินที่มีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้วสามารถมีโอกาสในอาชีพของตัวเองมากขึ้น
“จากได้ทดลองไปในหลายพื้นที่ได้พบว่า กทม.อาจไม่เหมาะที่จะมีโมเดลลักษณะแบบนี้ แต่ในอ.เบตง จ.ยะลา อ. สายบุรี จ.ปัตตานี พบว่ากิจกรรมเหล่านี้เกิดประโยชน์จริงและพบว่าทุกคนยินดีมีส่วนร่วม ยอมรับว่าประสิทธิภาพสู้แพลตฟอร์มเอกชนไม่ได้ เราไม่มีงบประมาณทำการตลาด แต่เราอาศัยความตรงไปตรงไปตรงมา เราไม่ได้โฟกัสไปที่การทำกำไร เราต้องการแค่ให้อยู่ได้ และไม่ได้อยู่ได้ทุกพื้นที่” ดร.อรรคนัฐย้ำถึงวัตถุประสงค์ของแพลตฟอร์ม

ขณะนี้แพลตฟอร์มนำร่องใช้งานจริงแล้วใน 19 พื้นที่ทั่วประเทศ เช่น เขตชุมชนลาดพร้าว 101 ซึ่งมีวินเข้าร่วม 40 คนจากทั้งหมด 300 คนและมีร้านอาหารเข้าร่วม 100 ร้านค้า เขตชุมชนสามย่าน กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี, อ.เบตง จ.ยะลา ทั้งนี้ ตั้งเป้าขยายผล 10 พื้นที่ ภายในปี 2568

รูปแบบแพลตฟอร์มให้บริการในพื้นที่ในระยะทาง 3 -5 ตรม.กม. ไม่มีเงื่อนไขสำหรับคนใช้แพลตฟอร์ม สำหรับคนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นคนขับจยย. ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งนักการเมืองท้องถิ่นนำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้ในพื้นที่ได้ เพราะระบบหลังบ้านของแอปใช้ระบบคลาวด์ของสสส.และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการคำนวณแล้วค่าดำเนินการต่อ 1 คำสั่งหรือบริการเรียกรถอยู่ที่ 5 บาท ซึ่งผู้ใช้บริการทั้ง 3 ส่วนร่วมจ่าย

**พี่วินรายได้หายความเครียดพุ่ง
นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 วินฯ ไม่สามารถรับและส่งผู้โดยสารได้ตามปกติ ประชาชนส่วนใหญ่จึงหันไปพึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสั่งอาหารและใช้บริการเดินทาง ส่งผลให้วินฯ ที่ไม่เข้าร่วมแพลตฟอร์มมีรายได้ลดลง จากวันละ 700 – 800 บาท เหลือเพียงวันละ 400 – 500 บาท ทำให้เกิดความเครียดสะสม กระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิต เพราะรายได้ไม่มีเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ สมาคมฯ จึงร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ออกแบบแพลตฟอร์ม “ตามสั่ง-ตามส่ง” “น้องเคยมาเท่าไหร่” เพื่ออำนวยความสะดวก ขอเชิญชวนวินฯ ร้านค้า และประชาชน ร่วมใช้บริการทั้ง 2 แพลตฟอร์ม เพื่อสร้างโอกาสให้วินฯ ที่กระจายตัวอยู่ตามชุมชนได้รับและส่งผู้โดยสาร และประชาชนได้ใช้วินฯ ที่มีมาตรฐาน และขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

“ข้อมูลที่ได้จากแอปฯช่วยสะท้อนเศรษฐกิจระดับฐานรากไม่ว่าจะเป็นวิน ชุมชนร้านค้า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะไม่ได้จากทางการ การไหลมาของข้อมูลที่เข้าทางแพลตฟอร์ม ไม่ว่าพฤติกรรมการกินอาหาร แม้กระทั่งการติดตามภาระโรค ซึ่งเกิดจากความเครียด ข้อมูลตัวนี้มีประโยชน์ด้านการวางแผนสุขภาวะของคนไทยได้” ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภภา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. กล่าวทิ้งท้าย