อาหารที่ปรุงจากกุ้งมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายและเป็นเมนูที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากปริมาณของคอเลสเตอรอลในเนื้อกุ้งทำให้ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูงเกินไปมักเป็นกังวลและพยายามหลีกเลี่ยง
แต่ปัจจุบันมีการยอมรับมากขึ้นว่า กุ้งสามารถเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ แม้ว่าเนื้อกุ้งจะมีคอเลสเตอรอล (เนื้อกุ้ง 85 กรัม มีคอเลสเตอรอลประมาณ 189 มิลลิกรัม) แต่แนวทางการศึกษาทางการแพทย์ล่าสุดชี้ว่า คอเลสเตอรอลจากอาหารไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของคนส่วนใหญ่มากนักตามที่เคยเชื่อกัน สิ่งที่ส่งผลมากกว่าคือไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ซึ่งในเนื้อกุ้งมีปริมาณต่ำมาก (กุ้ง 85 กรัม มีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 0.1 กรัม)
สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ การบริโภคกุ้งในปริมาณที่พอเหมาะ (1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือในปริมาณราว 85 – 170 กรัม) จึงไม่เป็นอันตรายต่อระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย ยกเว้นผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเสียก่อน หากต้องการกินกุ้งเป็นประจำ
นอกจากนี้ กุ้งยังเป็นแหล่งสารอาหารที่อุดมสมบูรณ์ดังนี้
- มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ กุ้ง 85 กรัม ออนซ์ ให้โปรตีนประมาณ 20 กรัม โดยให้พลังงานไม่ถึง 100 แคลอรี
- มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีประโยชน์ต่อหัวใจและสมอง
- มีซีลีเนียม ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของต่อมไทรอยด์
- มีวิตามินบี 12 ช่วยในการเสริมสร้างพลังงาน ช่วยให้กระปรี้ประเปร่าและบำรุงสุขภาพสมอง
- มีแอสตาแซนธิน สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยสร้างสีแดงในกุ้ง สารนี้ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องรับจากอาหารเท่านั้น มีประโยชน์ด้านช่วยลดการอักเสบและชะลอความเสื่อม
สำหรับวิธีกินกุ้งเพื่อสุขภาพมีหลายวิธี เช่น ปรุงด้วยวิธีย่าง จี่ หรือผัดแบบเร็วๆ พอให้สุก อาจจับคู่กินกับผักหรือธัญพืชไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงการปรุงด้วยซอสข้น ชุบแป้งทอดหรือทอดแบบท่วมน้ำมัน
ที่มา : health.yahoo.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES