“ชุมชนเมืองเดลินิวส์” ได้รับการร้องเรียนมาจากผู้ใช้เส้นทางนี้เป็นประจำ ต่างบอกว่าประสบปัญหานี้มายาวนาน ไม่รู้เมื่อไหร่ ที่ กทม. จะทำให้แล้วเสร็จเสียที ซ่อมสร้างมาเป็นเวลาหลายปีก็ไม่แล้วเสร็จ บางครั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ขับมาด้วยความเร็วก็เกิดอุบัติเหตุ ทั้งล้อแตก ช่วงล่างของรถกระแทกอย่างแรงก็มี
ส่วนอีกหนึ่งเส้นทางที่ได้เห็นประชาชนผู้ใช้เส้นทางบ่นกันเป็นประจำอีกเส้นทางหนึ่ง นั่นคือ ถนนพระรามที่ 3 ที่ถนนก็ไม่เรียบเช่นเดียวกัน รวมทั้งยังประสบภาวะเดียวกัน นั่นคือฝาบ่อบนถนนปิดไม่สนิท ที่ผ่านมาก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายครั้ง

ผู้สื่อข่าวชุมชนเมืองเดลินิวส์ จึงลง สำรวจพื้นที่ทั้งถนนเพชรบุรีตัดใหม่และถนนพระรามที่ 3 ก็พบปัญหาตามประชาชนผู้ใช้เส้นทางร้องเรียนเข้ามา อย่างเช่นบนถนนเพชรบุรี จะพบปัญหาเรื่องฝาบ่อไม่สม่ำเสมอมาก ก็ตั้งแต่แยกอโศก-เพชรบุรี ยาวไปจนทางขึ้นทางพิเศษเฉลิมมหานคร ระทางราว 2 กม. พบว่าตลอดเส้นทางของถนนทั้งขาเข้าและขาออก ต่างมีฝาบ่อขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ปูปิดบนผิวจราจรบางจุดจะอยู่ริมถนน บางจุดก็เป็นแผ่นใหญ่อยู่กลางถนน กินพื้นที่ 1 เลนช่องจราจร รถที่ขับผ่านบางคันที่ชินเส้นทางก็ชะลอรถได้ทัน แต่ถ้าคันไหนไม่ชิน รถก็อาจจะมีแรงกระแทกเพิ่มขึ้น
ขณะที่ถนนเส้นพระรามที่ 3 ความไม่เรียบของผิวถนนก็ไม่ต่างกัน แต่ช่วงระยะของฝาบ่อที่ปูอยู่บนผิวจราจรนั้น ไม่ถี่เท่าถนนเพชรบุรี แต่ความขรุขระก็ไม่ต่างกัน หากขับมาโดยไม่ใช้ความระมัดระวัง ก็อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวสอบถามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกับ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ทราบว่าฝาบ่อดังกล่าว เป็นการเปิดหน้างานของการไฟฟ้านครหลวง ในโครงการก่อสร้างท่อร้อยสายเพื่อนำสายไฟฟ้าลงดินในพื้นที่ กทม. โดยมีหลายจุด อาทิ ถนนพระรามที่ 3 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนพระรามที่ 4 และบนถนนอีกหลายจุด ซึ่งไม่ใช่การซ่อมแซมถนนของ กทม. โดยเป็นการทำงานในระยะเวลากลางคืนหลัง 4 ทุ่ม
ลักษณะของการทำงานนั้น ทำการเปิดฝาบ่อและนำเครื่องมือลงไปขุดเจาะตัววางท่อ และขั้นตอนต่อไปจะมีการวางสาย ซึ่งเป็นขั้นตอนระหว่างการทำงานของการไฟฟ้านครหลวง ในการนำสายไฟฟ้าลงดิน ปัจจุบันการทำงานของการไฟฟ้านครหลวง มีความล่าช้ากว่าแผน ซึ่ง กทม. ก็ได้มีการเร่งรัดไปแล้ว แต่ทั้งนี้เนื่องจาก กทม. ไม่ใช่เป็นผู้ว่าจ้างผู้รับเหมาในการดำเนินการโดยตรง จึงต้องเร่งรัดไปทางการไฟฟ้านครหลวง

“ในส่วนของหน้าที่การดำเนินงานของ กทม. นั้น จะต้องกำกับให้การทำงานมีมาตรฐานความปลอดภัย เช่น ที่ผ่านมาเราให้มีการขยายขนาดฝาบ่อ เนื่องจากที่ผ่านมาฝาบ่อมีขนาดเล็ก เวลาวางก็จะนำมาวางต่อกันหลายแผ่น สิ่งที่เราทำคือ 1.ปรับขนาดฝาบ่อให้ใหญ่ขึ้น เพื่อลดรอยต่อระหว่างแผ่นให้เหลือน้อยลง 2.กำกับดูแลในเรื่องร้องเรียนต่างๆ ประสานแจ้งการไฟฟ้านครหลวงให้กำกับผู้รับจ้างให้เสร็จรวดเร็วขึ้น และ 3.คือวางแผนร่วมกันในการวางแผนเรื่องการจราจร ร่วมกับทางตำรวจ”
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ในขั้นตอนการดำเนินการนั้น ขั้นตอนแรกคือขั้นตอนของงานโยธา โดยทำการวางท่อ เมื่อเสร็จแล้วก็จะมีผู้รับจ้างอีกรายเพื่อมาเดินสายไฟ แต่ก็เป็นคนละสัญญาจ้างซึ่งก็ต้อรอเวลา ดังนั้นฝาบ่อไหนที่วางท่องานโยธาเสร็จแล้ว สิ่งที่ กทม. เร่งรัด คือให้คืนผิวจราจรก่อน แล้วเมื่อไหร่ที่ได้ผู้รับจ้างของการเดินสายไฟฟ้าแล้ว ก็ค่อยเปิดดำเนินการอีกครั้ง ทั้งนี้จากรายงานพบว่ายังมีฝาบ่อที่ดำเนินการอยู่ ทั้งของการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง รวม 837 บ่อ

ปัจจุบันหากมีฝาบ่อไหนที่ไม่เรียบร้อยหวั่นจะเกิดอุบัติเหตุ ประชาชนสามารถร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์มทราฟฟี่ ฟองดูว์ ได้เช่นเดิม เพื่อ กทม. จะได้ประสานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไข เพื่อความปลอดภัยประชาชนผู้ใช้เส้นทางสัญจร.
ทีมข่าวชุมชนเมืองรายงาน