เมื่อวันที่ 30 พ.ค. พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ป. พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผกก.4 บก.ป. พ.ต.ท.เจษฎา แก้วจาเครือ รอง ผกก.4 บก.ป. พ.ต.ต.จิรัฎฐวัฒน์ กิจรุ่งเรืองเดช สว.กก.4 บก.ป. และนายณภัทร เทอดไทย ผู้แทนของธนาคารเกียรตินาคิน ร่วมแถลงข่าวจับกุม น.ส.นุชรีย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 42 ปี น.ส.จุฬาพร (สงวนนามสกุล) อายุ 55 ปี และ น.ส.อมรรัตน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 51 ปี เจ้าหน้าที่ดูแลด้านการเงิน สังกัดเทศบาลเมืองพิจิตร
ทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญา ที่ 3106-308 /2568 ลง 27 พ.ค. 68 ข้อหา “..ร่วมกันฉ้อโกง, ปลอมและใช้เอกสารปลอม, มีไว้ ใช้ และใช้เบิกถอนเงินสด ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ..” โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ภายในสำนักงานเทศบาลแห่งหนึ่งพื้นที่ จ.พิจิตร พร้อมของกลาง ใบแจ้งหนี้จากธนาคารต่าง ๆ ระบุชื่อบุคคลอื่น จำนวน 507 ฉบับ, บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดของบุคคลอื่น จำนวน 116 ใบ, สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลอื่น จำนวน 35 ชุด เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 2 เครื่อง

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อกลางปี 2567 ผู้ต้องหาทั้งสามได้ออกไปพบกับกลุ่มชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้มีรายได้น้อย อ้างว่าจะทำเอกสารเพื่อขอสิทธิรับเงิน หรือสิ่งของช่วยเหลือจากทางราชการให้ พร้อมขอเอกสารประจำตัว ข้อมูลบัญชีธนาคาร และเอกสารอื่น ๆ ไป หลังจากนั้นกลุ่มผู้ต้องหาได้ร่วมกันทำเอกสารปลอม โดยการตัดต่อภาพใบหน้าจากบัตรประชาชนไปใส่เครื่องแบบข้าราชการ ออกหนังสือรับรองเงินเดือนว่าเป็นพนักข้าราชการ และปลอมรายการเดินบัญชีว่ามีเงินหมุนเวียนหลายหมื่นบาท จากนั้นก็ส่งข้อมูลไปยังธนาคารต่าง ๆ เพื่อขออนุมัติบัตรสินเชื่อเงินสด (บัตรเครดิต, บัตรกดเงินสด) ซึ่งเมื่อมีการอนุมัติบัตรแล้ว และส่งบัตรกดเงินสดในนามของเหยื่อมาที่เทศบาลที่ผู้ต้องหาทั้งสามทำงานแล้ว ก็จะมีการนำบัตรดังกล่าว ไปกดเงินสดออกมานำไปใช้จ่ายส่วนตัว
ต่อมา ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารกสิกรไทย มีการตรวจพบกลุ่มลูกค้าที่มีสถานที่ทำงานอยู่ในสำนักงานเทศบาลเดียวกันที่ จ.พิจิตร ประมาณ 40 ราย ที่ยื่นขอสมัครสินเชื่อบัตรกดเงินสด โดยพบข้อพิรุธว่าอาจมีการทุจริต จึงลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่มีรายได้น้อย ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และไม่ได้เป็นผู้สมัครสินเชื่อดังกล่าวจริง จึงเข้าแจ้งความที่กองปราบฯ เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนก่อนเข้าจับกุมดังกล่าว

สำหรับพฤติกรรมของกลุ่มผู้ต้องหาทราบด้วยว่า ร่วมก่อเหตุมาตั้งแต่ปี 67 ซึ่งเมื่อได้บัตรมา ก็จะนำไปกดเงินสดออกมาจนเต็มวงเงินที่ได้ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 5 หมื่นบาท ความเสียหายที่พบในขณะนี้ประมาณ 2 ล้านบาท สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้ธนาคารตรวจจับความผิดปกติของบัญชี กลุ่มผู้ต้องหาก็จะใช้วิธีชำระหนี้อัตราขั้นต่ำ เพื่อป้องกันการถูกตรวจสอบจากธนาคารอีกด้วย
จากการสอบสวน น.ส.นุชรีย์ ยอมให้การรับสารภาพว่า ตนต้องการหาเงินไปใช้หนี้นอกระบบ บางส่วนก็นำเอาไปเล่นพนันหวยออนไลน์ ส่วน น.ส.จุฬาพร และ น.ส.อมรรัตน์ นั้น ขอให้การปฏิเสธ จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ป. ดำเนินคดีตามกฎหมาย

ด้าน นายณภัทร กล่าวว่า กรณีนี้ขอเตือนไปยังพี่น้องประชาชนว่า การทำสัญญากู้กับสถาบันการเงินทุกแห่ง เอกสารที่สำคัญที่สุดคือ เอกสารประจำตัว เช่น บัตรประชาชน ซึ่งการมอบให้บุคคลอื่นนำไปใช้ จะมีความเสี่ยงเหมือนกรณีนี้ ดังนั้น ควรต้องระมัดระวัง ถ้าไม่ให้เลยก็จะดีกว่า สำหรับผู้เสียหาย ขอให้รีบไปติดต่อธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อทันที เมื่อรับคำร้องเรียนแล้ว ก็จะรีบทำการตรวจสอบว่าท่านยื่นสินเชื่อกู้จริงหรือไม่ หากพบว่าไม่ได้กู้จริง ก็จะมีการยกเลิกสัญญากู้ดังกล่าว พร้อมกับลบประวัติการขอสินเชื่อด้วย และไปแจ้งความเอาโทษกับผู้กระทำผิดต่อไป.
