สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ว่านายหวัง อี้ รมว.การต่างประเทศจีน เป็นประธานในพิธีลงนามร่วมกันอีก 31 ประเทศ “ซึ่งมีจุดยืนแบบเดียวกัน” ตั้งแต่เซอร์เบีย ไปจนถึงปากีสถาน ปาปัวนิวกินี และเวเนซุเอลา ในการก่อตั้งองค์การเพื่อการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ (International Organization for Mediation Convention – IOMed) หรือ “ไอโอเมด” เพื่อก้าวข้ามแนวคิดแบบ “ได้อย่างเสียอย่าง” หรือแนวคิดแบบ “แพ้-ชนะ” เพื่อส่งเสริมการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศอย่างเป็นมิตร และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้กลมเกลียวยิ่งขึ้น


ขณะที่คณะผู้บริหารฮ่องกงออกแถลงการณ์ ว่าไอโอเมด “อยู่ในระดับเดียวกัน” หรือ “เทียบเท่า” กับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก และศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ซึ่งศาลทั้งสองแห่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมทั้งย้ำว่า ไอโอเมดจะดำเนินการโดยยึดมั่นตามกฎบัตรยูเอ็น


ทั้งนี้ จีนแสดงความเชื่อมั่น ว่าองค์กรแห่งนี้จะสามารถทำหน้าที่ “คนกลางที่มีประสิทธิภาพ” ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะระหว่างรัฐต่อรัฐ รัฐกับบุคคล หรือระหว่างองค์กรระหว่างประเทศ


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนดำเนินบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในทางการทูตระหว่างประเทศ โดยมีการเพิ่มความสนับสนุนให้แก่องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ทั้งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ในเวลาเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินนโยบาย “สวนทาง” กับประชาคมโลก

ขณะเดียวกัน มีการวิเคราะห์เช่นกันว่า การก่อตั้งไอโอเมด ซึ่งมีการประกาศแผนริเริ่มเมื่อปี 2565 คือความพยายามล่าสุดของจีน ในการฟื้นฟูและปรับภาพลักษณ์ให้กับฮ่องกง ซึ่งจะเป็นสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของไอโอเมด หลังรัฐบาลปักกิ่งบัญญัติกฎหมายความมั่นคง เพื่อใช้เฉพาะกับเขตบริหารพิเศษแห่งนี้ เมื่อปี 2563.

เครดิตภาพ : AFP